ผลกระทบเศรษฐกิจ จากสงครามในอิสราเอล

ผลกระทบเศรษฐกิจ จากสงครามในอิสราเอล

สงครามในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานจะเป็นเริ่มเห็นก่อน หลังจากนั้นถ้าหากสงครามยืดเยื้อจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น

การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 รวมแล้วมากกว่า 2 สัปดาห์ที่ทั่วโลกจับตาดูสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีผลกระทบถึงคนไทยที่ทำงานในอิสราเอล และทำให้มีคนไทยผู้แจ้งความประสงค์เดินทางกลับไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดถึงปัจจุบันมีถึง 8,000 คน ซึ่งอยู่ในระหว่างการทยอยเดินทางกลับประเทศไทย

นอกจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลต่อความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว ปัจจัยผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอีกประเด็นที่ทั่วโลกจับตา รวมถึงประเทศไทยที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจประเมินสถานการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบสำหรับเตรียมรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับผลกระทบด้านความมั่นคงของประเทศไทย

ถึงแม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่ประเด็นที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง มองตรงกัน คือ สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวจะยืดเยื้อหรือไม่ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวจะลุกลามกลายเป็นปัญหาภูมิภาคหรือไม่ และประเด็นสุดท้ายจะส่งผลต่อเสถียรภาพราคาพลังงานโลกอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่บริบทครั้งนี้แตกต่างกัน

ประเด็นราคาพลังงานถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นลำดับต้นในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันประเทศไทยใช้กลไกการลดภาษีน้ำมันและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกลไกหลักในการดูแลราคาพลังงาน ซึ่งมีการลดราคาภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาท เพื่อตรึงราคาดีเซลที่ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 และขณะนี้กำลังจะลดราคาแก๊ซโซฮอลล์ 91 ลงลิตรละ 2.50 บาท โดยใช้กลไกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินหรือกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งรัฐบาลต้องมองด้วยว่าหากราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่อง จะยังใช้นโยบายลดราคาดีเซลและเบนซินอยู่หรือไม่

ผลกระทบต่อราคาพลังงานจะเป็นเริ่มเห็นก่อน หลังจากนั้นถ้าหากสงครามยืดเยื้อจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่คู่กรณีขยายวงเพิ่มมากขึ้น อาจมีผลต่อราคาพลังงานที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการค้าโลก ซึ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องประเมินสถานการณ์แต่ละกรณี เพื่อเตรียมแผนรับมือไว้เพราะคาดเดาได้ลำบากว่าสงครามจะยุติเมื่อใดและจะขยายวงไปแค่ไหน