กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดัน “สมุนไพรไทย” เป็น Soft Power

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดัน “สมุนไพรไทย” เป็น Soft Power

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าผลักดันสมุนไพรไทย” เป็น Soft Power เล็งต่อยอดใช้กับอาหาร ตอบสนองกลุ่มคนรักสุขภาพ สร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มเวชสำอาง อาหารเสริม สินค้าอุปโภคบริโภค และช่วยขยายช่องทางการตลาดทุกรูปแบบ ล่าสุดขายในงาน THAIFEX ทำยอดขายกว่า 200 ล้านบาท

นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมมีแผนที่จะส่งเสริมการตลาดสินค้า “สมุนไพรไทย” อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มีคณะกรรมการนโยบายและสมุนไพรแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีกรพัฒนาธุกิจการค้า  กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดช่องทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลักดันสมุนไพรไทยให้เป็น Soft Power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกรายการหนึ่ง

สำหรับการขับเคลื่อนสมุนไพรไทย ได้มีการกำหนดมาตรการผลักดันสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ประเทศด้านอาหารและวัฒนธรรมไทย โดยบูรณาการประเด็นสมุนไพรร่วมกับอาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ผลักดันคุณค่าของสมุนไพรไทยร่วมกับอาหารไทย ตอบรับกระแสนิยมด้านรักสุขภาพ นำเสนอเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทย ชูสรรพคุณที่มีคุณประโยชน์เจาะกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะด้าน เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกัน Plant-based และผู้สูงอายุ

ส่วนด้านการตลาด จะมีการศึกษาความต้องการของตลาด กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้การตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ สร้างเรื่องเล่าดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เน้นขยายตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลุ่มเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มสมุนไพร รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพร

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดัน “สมุนไพรไทย” เป็น Soft Power

นอกจากนี้ จะเร่งการพัฒนาตราสัญลักษณ์คุณภาพสมุนไพรที่เป็นที่ยอมรับ โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการสมุนไพรเพื่อมอบรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ซึ่งสัญลักษณ์ของรางวัลมีแนวคิดการออกแบบมาจากรูปแบบของไผ่ที่สานเป็นรูปดวงดาวของเฉลว และกราฟิกรูปหัวใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ทั้งนี้ ในส่วนของกรม จะเดินหน้ายกระดับศักยภาพด้านการตลาดของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สะท้อนคุณค่า และความน่าเชื่อถือผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ในการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเป็นตลาดสมุนไพรของอาเซียน

 

ทางด้านผลการทำงาน ในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้สร้างภาพลักษณ์และการรับรู้คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยสร้างเรื่องเล่าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 22 ผลิตภัณฑ์ เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบมาจาก Herbal Champion ได้แก่ ขมิ้นชัน กระชายดำ และบัวบก พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านออนไลน์และเครือข่ายพันธมิตร และนำผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีศักยภาพขยายตลาดเชิงรุกเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรงผ่านงานแสดงสินค้าต่าง ๆ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้จัดจำหน่าย สามารถสร้างมูลค่าการค้าได้มากกว่า 15 ล้านบาท

โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ยาดม น้ำมันหอมระเหย และเครื่องสำอาง สมุนไพรจากน้ำนมข้าว และในปี 2566 ได้นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน THAIFEX – Anuga Asia 2023 เมื่อเดือนพ.ค.2566 จำนวน 42 ราย สามารถสร้างมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 203.31 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม 5 อันดับ ได้แก่ ขมิ้นชันผง น้ำมะขามป้อม ขนมจากขิง เครื่องดื่มจากจมูกข้าว และเครื่องแกง ตามลำดับ