คุ้มค่าแค่ไหน ? นโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท’ หากรัฐต้องจ่ายอุดหนุนภาคเอกชน

คุ้มค่าแค่ไหน ? นโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท’ หากรัฐต้องจ่ายอุดหนุนภาคเอกชน

นายกฯ เศรษฐา ขอเวลาศึกษานโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” พร้อมหารือพรรคร่วมรัฐบาล ชี้ต้องประเมินงบประมาณก่อน ด้าน “กรมการขนส่งทางราง” เปิดโมเดลความเป็นไปได้ เทียบชัดคุ้มค่าแค่ไหนหากรัฐต้องอุ้มเอกชน

พรรคเพื่อไทย ได้เสนอนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โดยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งได้แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ากำหนดงบประมาณที่ใช้ 40,000 ล้านบาท บวกกับเงินประมาณเพิ่มอีกปีละ 8,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งที่มาจากการจัดสรรงบประมาณปกติ โดยพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าต้องมีการจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้

สำหรับนโยบายดังกล่าวพรรคเพื่อไทยต้องการลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชนและส่งเสริมการใช้รถขนส่งสาธารณะ ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาท โดยระบุว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยออกมาประกาศเป็นนโยบายหาเสียงนั้น ขณะนี้ต้องขอไปพิจารณาในรายละเอียดก่อน เพราะถึงแม้จะเคยบอกว่าเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่ปัจจุบันเราไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว การที่มีพรรคร่วมรัฐบาลอีก 10 พรรค ก็ต้องไปพิจารณาในเรื่องของงบประมาณโดยรวมก่อน และจะมีการชี้แจงอีกครั้ง 

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น กรมฯ ประเมินว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนก่อนว่า รัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายใด และจะดำเนินการเมื่อใด มีระยะเวลาดำเนินการแค่ไหน เพื่อนำมาพิจารณาในด้านงบประมาณที่จะใช้ในการอุดหนุนหรือชดเชยส่วนต่างให้กับเอกชนที่เป็นคู่สัญญาสัมปทาน

อย่างไรก็ดี กรมฯ ได้ศึกษาความเหมาะสมของการใช้นโยบายดังกล่าวกับกลุ่มเป้าหมายหลายประเภท อาทิ กรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสายกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกรณีให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ โดยเบื้องต้นพบว่าในกรณีให้สิทธิแก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีความเป็นไปได้มากที่สุด และสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะมีความพร้อมด้านระบบซอฟต์แวร์ ระบบฐานข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดในการให้สิทธิแก่กลุ่มเป้าหมายได้ทันที

โดยปัจจุบันภาครัฐมีการดูแลค่าเดินทางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 750 บาทต่อเดือน แต่พบว่าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ายังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากมีค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 30 – 40 บาทต่อเที่ยว ทำให้ไม่จูงใจในการใช้บริการ แต่หากลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงเหลือ 20 บาทตลอดสาย วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะใช้เดินทางได้เที่ยวเพิ่มขึ้น และจะจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยหันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มตามไปด้วย

ส่วนกรณีให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ อาจจะต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขบางช่วงเวลา กำหนดใช้เป็นกรอบเวลาในระยะ 3 เดือน หรือให้อัตราราคา 20 บาทตลอดสายในบางเส้นทางที่เป็นของรัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง และ รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง หรืออาจจะกำหนดเป็นตั๋วรายเดือน สำหรับผู้เดินทางประจำ ที่ราคาตั๋วรายเดือนในขณะนี้หากเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25 บาทต่อเที่ยว ดังนั้นภาครัฐก็จะใช้เงินชดเชยส่วนต่างภาคเอกชนไม่มาก

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางรางศึกษาวิเคราะห์กรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อให้สอดคล้องตามกลุ่มเป้าหมายผู้เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางใน 2 กรณี แบ่งเป็น

 

กรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสายกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โดย ขร. ได้ประสานกรมบัญชีกลาง เรื่องข้อมูลจำนวนผู้มีรายได้น้อย เทียบเคียงผู้ใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการให้สิทธิ 20 บาทตลอดสายกับประชาชนกลุ่มดังกล่าว เมื่อพิจารณาข้อมูลพบว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6,061 คน-เที่ยว หรือ 0.56% จากแรงจูงใจด้านราคาค่าโดยสารที่ลดลง อีกทั้งเมื่อวิเคราะห์เงินที่ภาครัฐต้องอุดหนุนกรณีผู้มีรายได้น้อย

คาดว่าจะต้องใช้เงินอุดหนุน 34.63 หรือประมาณ 35 บาทต่อคน โดยคาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนรวมประมาณ 307.86 ล้านบาทต่อปี

 

คุ้มค่าแค่ไหน ? นโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท’ หากรัฐต้องจ่ายอุดหนุนภาคเอกชน

 

กรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสาย สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ

จากการวิเคราะห์โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) พบว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มได้ประมาณ 104,296 คน-เที่ยว หรือ 9.59% จากปัจจัยบวกด้านราคาค่าโดยสารที่ลดลง และเมื่อวิเคราะห์เงินที่ภาครัฐต้องอุดหนุนกรณีให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ

ประเมินว่าต้องใช้เงินอุดหนุน 17.47 บาท หรือประมาณ 17 บาทต่อผู้โดยสารที่เดินทางในระบบ และคาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนรวม 5,446 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้หากภาครัฐจะจัดใช้นโบบายสำหรับประชาชนทุกคน จะต้องบูรณาการกับหน่วยงานของกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณที่รับผิดชอบทางการคลังของรัฐ เกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเป็นในการอุดหนุนค่าโดยสารส่วนต่าง

 

คุ้มค่าแค่ไหน ? นโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท’ หากรัฐต้องจ่ายอุดหนุนภาคเอกชน

ประโยชน์นโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งเมื่อ ครม. อนุมัติคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันที โดยพบว่าประโยชน์ของนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะเกิดขึ้นทันที อาทิ

  • ลดระยะเวลาการเดินทางบนถนน/ลดปัญหาการจราจรติดขัด
  • ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน
  • ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชนในประเทศ
  • ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
  • ส่งเสริมการใช้ระบบราง
  • ส่งเสริมแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 โดยการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และฝุ่น PM 2.5
  • ส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง

 

คุ้มค่าแค่ไหน ? นโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท’ หากรัฐต้องจ่ายอุดหนุนภาคเอกชน