‘ตุลาการ’ แถลงคดี BTS ยืนตามศาลปกครองกลางให้ กทม.จ่ายหนี้ 1.1 หมื่นล้าน

‘ตุลาการ’ แถลงคดี BTS ยืนตามศาลปกครองกลางให้ กทม.จ่ายหนี้ 1.1 หมื่นล้าน

"ศาลปกครองสูงสุด" พิจารณาคดีหนี้ติดตั้งและเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว "ตุลาการ" แถลงยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางให้ กทม.และกรุงเทพธนาคม จ่ายค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงตามสัญญา 1.1 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจาก ศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ในวันที่ 17 ส.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุดมีกำหนดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี กับกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดี 2) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

คดีนี้ BTS ฟ้องว่ากรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญากรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

สำหรับคดีนี้ตุลาการผู้แถลงคดีได้มีความเห็นให้ยืนตามศาลปกครองกลาง ที่มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ให้คู่ความสองฝ่ายชี้แจงพยานหลักฐานในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา และถือว่ามีข้อมูลครบถ้วนในการพิจารณา

รวมทั้งตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าหนี้ตามที่ฟ้องมีการชำระมาแล้ว โดยรัฐไม่ได้ปฏิเสธหนี้สินและดอกเบี้ย ส่วนการระบุถึงกรณีที่มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงถึงเป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ซึ่งยังไม่มีการสรุปว่าการทำสัญญาดังกล่าวถูกหรือผิด

ส่วนในประเด็นที่รัฐระบุถึงเหตุของการไม่ชำระหนี้ เพราะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่องการดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกำหนดให้มีการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยในประเด็นนี้จะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ชำระหนี้ไม่ได้

นอกจากนี้ เมื่อตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นต่อคดีเรียบร้อยแล้วต่อไปศาลปกครองสูงสุดจะนัดอ่านคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใช้หนี้ตามสัญญา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยแบ่งเป็น

1.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199 ล้านบาท

2.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ภายหลังจากการทำสัญญา ผู้ฟ้องคดีได้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายที่ 1 เรื่อยมา และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ชำระค่าจ้างรายเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีครบถ้วนต่อเนื่องจนถึงเดือน เม.ย.2562 แต่หลังจากนั้นตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ถึงเดือน พ.ค.2564 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จ่ายเงินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงไม่ครบถ้วนเต็มจำนวน

กทม.และกรุงเทพธนาคมไม่ชำระหนี้

นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 71 กำหนดว่าหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่จ่ายค่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าจ้างที่ค้างชำระนั้นในอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงดังกล่าว จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แล้วโดยมิพักต้องเตือน 

ดังนั้นเมื่อรวมต้นเงินและดอกเบี้ยของหนี้ค้างชำระค่าเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ส่วนต่อขยายที่ 1 ตามสัญญา จึงมีหนี้เงินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,348 ล้านบาท

ส่วนต่อขยายที่ 2 มีข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังไม่มีนโยบายให้เก็บค่าโดยสาร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่สามารถนำเงินค่าโดยสารไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการได้

ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ได้ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าให้แก่ ผู้ฟ้องคดีตั้งแต่ที่มีการเดินรถในเดือน เม.ย.2560 ถึงเดือน พ.ค.2564

ซึ่งกรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดียืนยันสอดรับกันเกี่ยวกับจำนวนต้นเงินค่าเดินรถและค่าซ่อมบำรุงที่ค้างชำระ และเมื่อสัญญากำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดไว้แล้ว กรณีจึงมีหนี้เงินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,406 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหนี้ค้างชำระตามสัญญาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้แก่ผู้ฟ้องคดีด้วยผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด