ศูนย์ทดสอบยานยนต์ “อีอีซี” ดันไทยศูนย์กลางอาเซียน

ศูนย์ทดสอบยานยนต์ “อีอีซี” ดันไทยศูนย์กลางอาเซียน

ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center) หรือ ATTRIC เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของไทย เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต รวมทั้งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตในอาเซียน

ในปี 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินโครงการตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ วงเงิน 3,705.7 ล้านบาท โดยภาครัฐลงทุนบนพื้นที่ 1,235 ไร่ ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 

ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว 55% ใช้เงินงบประมาณไป 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินงบประมาณ 1,667.69 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2569

ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฯ ครอบคลุมการทดสอบมาตรฐานรถยนต์ครบวงจรและมีมาตรฐานสากลแห่งแรกในอาเซียน โดยรองรับการทดสอบรถเครื่องยนต์สันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สำหรับค่ายรถทั่วโลก รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสำหรับเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ สมอ.เสนอให้ศูนย์ทดสอบยางยนต์และยางล้อแห่งชาติเป็นองการค์มหาชน ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ดีที่สุด และดำเนินการตามผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อให้มีอิสระในการดำเนินงานและไม่เป็นภาระรัฐ

ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการพัฒนาเมื่อวันที่14 ก.ค.2566 พบว่า ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปเกินครึ่งแล้ว โดยจะเป็นสถานที่ทดสอบยานยนต์ (Automotive) และยางล้อ (Tyre) มาตรฐานระดับโลก และจะเป็นฮับการทดสอบ (Testing) การวิจัย (Research) และนวัตกรรม (Innovation) อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก 

ทั้งนี้ คาดว่าศูนย์ทดสอบฯ จะมีรายได้ปีละ 1,000 ล้านบาท รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ ประมาณ 30-50% และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี โดยเปิดบริการสนามทดสอบยางล้อ สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2562 มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการสนามทดสอบยางล้อแล้ว 300 ราย

ศูนย์ทดสอบยานยนต์ “อีอีซี” ดันไทยศูนย์กลางอาเซียน

สำหรับสนามทดสอบแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ 

เฟสที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ ได้ดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 (เกณฑ์มาตรฐานยางล้อที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ) อาคารสำนักงานพร้อมห้องปฏิบัติการและระบบสาธารณูปโภค 

รวมทั้งจัดซื้อเครื่องมือทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 รวม 2 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบความต้านทานการหมุน และชุดเครื่องมือทดสอบมลพิษทางเสียงขณะหมุนและการยึดเกาะถนนบนพื้นผิวเปียก โดยเปิดบริการทดสอบตั้งแต่ต.ค.2562

เฟสที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้ก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนสนามทดสอบเสร็จแล้ว ได้แก่ อาคารควบคุมการทดสอบ สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance) สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake (Test Hill)  สนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform) สนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง (Skid-Pad) 

รวมทั้งจัดซื้อเครื่องมือทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย ระบบยึดแบบไอโซฟิก และจุดยึดไอโซฟิกทอปเทเทอร์ ชุดทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศรีษะสำหรับใช้ในยานยนต์ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบห้ามล้อสำหรับรถยนต์บรรทุกและห้ามล้อสำหรับรถยนต์นั่งแล้วเสร็จ 

ขณะนี้เหลือเพียงก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ (High Speed) ตามมาตรฐาน UN R117 ทางวิ่ง (Run-In) ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 สถานีเตรียมสภาพรถ จัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 3 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนการเข้าโค้ง ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์

บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ส่วนที่เหลือ 45% เป็นการสร้างสนามที่ 6 ทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และชุดทดสอบการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์เพื่อทดสอบอีวี วงเงิน 1,667.69 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2566 วงเงิน 473.52 ล้านบาท ปี 2567 วงเงิน 597.09 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 597.08 ล้านบาท

“ปัจจุบันชุดทดสอบการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์และสนามรวมทั้งห้องทดสอบ ได้ผู้ชนะประมูลแล้ว ขณะที่สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะอยู่ระหว่างการประกาศเปิดประมูลครั้งที่ 2 ในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากที่ครั้งแรกมีผู้ประมูลรายเดียวจึงต้องประมูลใหม่เพื่อเปิดโอกาสทุกฝ่าย”

ทั้งนี้ สมอ.ได้งบประมาณ 1,667.69 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วและเหลือเพียงการจัดจ้างที่ต้องเป็นไปตามแผน เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามไทม์ไลน์