‘สภาพัฒน์’ ผวา ‘เอลนีโญ’ กดดันเศรษฐกิจ แนะ ‘รัฐบาลใหม่’ เร่งทำแผนด่วนรับมือ

‘สภาพัฒน์’ ผวา ‘เอลนีโญ’ กดดันเศรษฐกิจ  แนะ ‘รัฐบาลใหม่’ เร่งทำแผนด่วนรับมือ

'สศช.' ชี้เอลนีโญลากยาวจ่อซ้ำรอยปี 58 และปี 62 ที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง กระทบ GDP เกษตรหดตัวได้มากถึง 6.5% กระทบรายได้ กำลังซื้อเกษตรกร ส่วนภาคอุตสาหกรรมอาจเกิดปัญหาขากแคลนน้ำดิบที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม แนะเริ่มแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฝนทิ้งช่วง ทำฝนหลวงเสริมปริมาณน้ำ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าภาวะภัยแล้งที่จะเกิดจากสภาวะเอลนีโญซึ่งมีแนวโน้มที่รุนแรงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจากการคาดการณ์ของจาก National Weather Service; Climate Prediction Centre (NOAA) ได้คาดการณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้และมีโอกาส 62% ที่จะเข้าสู่เอลนีโญตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค. 2566 ถึงเดือนก.ค. 2566 และการเกิดขึ้นอาจต่อเนื่องไปจนถึงกุมภาพันธ์ 2567 หรือยาวนานไปมากกว่านั้น

 นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ ประมาณ 5% ประกอบกับอุณหภูมิจะสูงกว่าค่าปกติ โดยคาดว่าจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 25 - 34 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 28.6 องศาเซลเซียส) ในช่วง เดือนพฤษภาคม 2566 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566

ภัยแล้งปี 62 ทำจีดีพีเกษตรเคยหดตัว 6.5% 

นายดนุชา กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเนื่องจากสภาวะเอลนีโญที่รุนแรงในปี 2558 และปี 2562 ที่มีสภาวะเอลนีโญ เกิดขึ้นและเป็นช่วงที่ปริมาณฝนสะสมน้อยและอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติเกือบทุกเดือน ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำใช้ได้จริงของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในภาคเกษตร (จีดีพีเกษตร)อย่างรุนแรง

โดยในปี 2558 จีดีพีเกษตรหดตัวไปถึง 6.5% ส่วนในปี 2562 จีดีพีเกษตรหดตัวลงไป 1% ซึ่งสะท้อนว่าสภาวะเอลนีโญส่งผลต่อรายได้ภาคเกษตร และกำลังซื้อของเกษตรกรในประเทศไทยด้วย

ดังนั้นภายใต้การคาดการณ์แนวโน้มการเข้าสู่สภาวะเอลนีโญนั้นประเทศไทยจึงควรเตรียมความพร้อมโดยการเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และดำเนินมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับสถานการณ์อย่างเหมาะสม และทันท่วงที โดยเฉพาะแนวทางการจัดสรรทรัพยากรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน การหาแหล่งน้ำสำรอง และการเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรให้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน

ควบคู่ไปกับการดูแลผลผลิตภาคเกษตรที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจาก ความแปรปรวนของสภาพอากาศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและคุณภาพสินค้า จนทำให้รายได้เกษตรลดลง รวมทั้งการให้ ความสำคัญกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูงด้วย

ภัยแล้งกระทบปริมาณน้ำภาคอุตสาหกรรม

นอกจากในภาคเกษตรผลกระทบของภัยแล้งจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากบางอุตสาหกรรมจะขาดแคลนน้ำดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิต กระบวนการหล่อเย็น ซึ่งพื้นที่น่าเป็นห่วงคือพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งในส่วนนี้ภาคเอกชนก็มีการเตรียมความพร้อมแล้ว เช่น การทำกระบวนการรีไซเคิลนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่

แนะเตรียมแผนสำรองน้ำ - ทำฝนหลวง 

ทั้งนี้แผนการแก้ปัญหาในการรับมือภัยแล้งของภาครัฐก็ต้องมีแผนที่จะรองรับ เช่น การทำฝนหลวงในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง เพื่อเติมน้ำในเขื่อน และช่วยให้พื้นที่บริเวณที่ขาดแคลนน้ำมาก โดยแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมนั้นเป็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งจะมีข้อมูลน้ำในระดับพื้นที่ทำให้สามารถวางแผนการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง