อย่าเล่นการเมือง จนลืมเรื่องเอลนีโญ

อย่าเล่นการเมือง จนลืมเรื่องเอลนีโญ

เริ่มมีการประเมินกันแล้วว่ากว่าที่รัฐบาลใหม่จะแถลงนโยบายเสร็จและเริ่มปฏิบัติหน้าที่อาจลากไปถึงเดือน ก.ย.-ต.ค.2566 นั่นหมายความว่าเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนแล้ว จึงน่าระทึกใจว่ากลไกของรัฐบาลรักษาการและส่วนราชการจะนำพาประเทศรอดจากผลกระทบเอลนีโญได้แค่ไหน

สงครามแย่งชิงน้ำอาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีการเตรียมรวมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งในปี 2566 ปริมาณฝนจะน้อยกว่าปกติ โดยมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์เอลนีโญอาจจะเกิดขึ้นกินเวลา 2566-2568 ซึ่งในปี 2566 จะยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก เพราะเขื่อนและอ่างเก็บน้ำยังมีปริมาณน้ำเพียงพอใช้งานสำหรับภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและภาคครัวเรือน 

การบริหารจัดการน้ำจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการ เพราะมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่ฤดูกาล ซึ่งทำให้ช่วงก่อนเข้าฤดูฝนเริ่มมีข้อเสนอให้กับภาครัฐในการวางแผนบริหารน้ำเพื่อรองรับผลกระทบจากเอลนีโญ แต่เป็นโชคร้ายของประเทศไทยที่อยู่ในช่วงรอยต่อของการเลือกตั้งและการการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้การตอบสนองของรัฐบาลรักษาการทำได้ไม่เต็มที่ ในขณะที่ส่วนราชการดำเนินการตามภารกิจประจำเป็นส่วนใหญ่ เพื่อรอรัฐบาลใหม่มากำหนดนโยบาย ซึ่งแม้ว่าจะมีความพยายามของพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ทำแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่รวมถึงการรับมือภัยแล้งและเอลนีโญ แต่ ณ วันนี้ไม่มีใครตอบได้ว่ารัฐบาลใหม่จะจัดตั้งได้เมื่อไหร่

ในอดีตที่สถานการณ์แล้งเกิดขึ้นรุนแรงจะเห็นภาพชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแย่งกันสูบน้ำเข้านา เพื่อประคองต้นข้าวให้มีชีวิตอยู่รอดถึงฤดูเก็บเกี่ยว และในสถานการณ์แล้งที่รุนแรงต้องมีการส่งทหารไปควบคุมพื้นที่เพื่อไม่ให้มีการสูบน้ำ เป็นตัวอย่างสำคัญของผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่เกิดวิกฤติแล้งที่ระบบส่งน้ำทางท่อในภาคตะวันออกถูกจำกัดปริมาณน้ำ ทำให้โรงงานต้องสั่งซื้อน้ำดิบใส่รถบรรทุกมาส่งที่โรงงาน และนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การรีไซเคิลน้ำ รวมถึงการสร้างแหล่งน้ำของตัวเอง

หันมาดูนักการเมืองไทยในปัจจุบันเชื่อได้ว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครคิดถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งและเอลนีโญในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า โดยสิ่งที่นักการเมืองกำลังคิดอยู่ในขณะนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งการโหวตล้มเหลวมาแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 ในขณะที่การโหวตจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.2566 และไม่มีใครยืนยันได้ว่าในการโหวตครั้งที่ 2 ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะยืดเยื้อออกไป

รัฐบาลใหม่จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งอย่างเร็วที่สุดจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค.2566 และเริ่มมีการประเมินกันแล้วว่ากว่าที่รัฐบาลใหม่จะแถลงนโยบายเสร็จและเริ่มปฏิบัติหน้าที่อาจลากไปถึงเดือน ก.ย.-ต.ค.2566 นั่นหมายความว่าเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนแล้ว จึงน่าระทึกใจว่ากลไกของรัฐบาลรักษาการและส่วนราชการจะนำพาประเทศรอดจากผลกระทบเอลนีโญได้แค่ไหน หรือทำได้เพียงพึ่งเทวดาดลให้ฝนตกลงในเขื่อน เพื่อให้มีน้ำสำหรับฤดูแล้งปี 2567 มากที่สุด