เอลนีโญผสานโลกร้อน ปีหน้าแล้งสุดขั้ว อุณหภูมิน้ำทะเลสูง หายนะที่รออยู่

เอลนีโญผสานโลกร้อน ปีหน้าแล้งสุดขั้ว อุณหภูมิน้ำทะเลสูง หายนะที่รออยู่

ถ้าเอลนีโญ ลากยาวไปไกลถึงปี 67 จะส่งผลเสียทวีคูณ ไม่ว่าการเกษตร เศรษฐกิจ ส่วนมุมที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ท้องทะเล ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีข้อมูลบอกเล่า

เอลนีโญ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ปกติจะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 5-6 ปี เมื่อร้อนหรือเย็นผิดปกติก็จะก่อให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย

ว่ากันว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ เริ่มมาตั้งแต่กลางปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงปี 2567 และอาจลากยาวกว่านั้น  โดยมีข้อมูลยืนยันว่า เอลนีโญจะทำให้เกิดปัญหาร้อนและแล้งมากกว่าทุกปี

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ปีนี้โลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ดับเบิ้ลเอลนีโญ โลกจะร้อนมากขึ้น หนุนให้เอลนีโญแรงขึ้น ซึ่งในอดีตไม่มีปัญหาโลกร้อนเหมือนในปัจจุบัน

"นักวิทยาศาสตร์เกรงว่าเอลนีโญปีนี้จะแรงกว่าปีที่ผ่านมา  และตอนนี้เอลนีโญเข้ามาชายฝั่งบ้านเราแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี2566 จะทวีความรุนแรงในช่วงปลายปี 2566 จนถึงต้นปี 2567 โดยจะทำนายปรากฏการณ์เอลนีโญได้ถึงเดือนมีนาคม ปี 2567 หลังจากนั้นความแม่นยำในการทำนายจะลดลง เพราะระยะเวลาทอดยาวไกลเกินไป

ความแม่นยำในการทำนายเอลนีโญทำได้แค่ 6-8 เดือน จึงไม่อาจรู้แน่ชัดว่าเอลนีโญจะลากยาวไปไกลแค่ไหน "

เอลนีโญผสานโลกร้อน ปีหน้าแล้งสุดขั้ว อุณหภูมิน้ำทะเลสูง หายนะที่รออยู่

ปะการังฟอกขาวที่ฟิลิปปินส์

นอกจากปัญหาเอลนีโญ ยังมีเรื่องโลกร้อนเป็นตัวเร่งให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติรูปแบบนี้ทวีความรุนแรงในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน

อาจารย์ธรณ์ เล่าต่อว่า  ไทยกำลังเผชิญภาวะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น หลังจากอุณหภูมิสูงติดต่อกัน 4 ปี ก่อให้เกิดสภาวะปะการังฟอกขาวสะสมส่งผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล 

“ เริ่มมีการเตือนภัยปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงที่ฟิลิปปินส์ แต่ที่เมืองไทยร้อนผิดปกติในช่วงเดียวกันแล้ว พื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจะเกิดบริเวณอ่าวไทยตอนใน ภาคตะวันออก ฝั่งอันดามันตอนล่าง อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศา”

เอลนีโญผสานโลกร้อน ปีหน้าแล้งสุดขั้ว อุณหภูมิน้ำทะเลสูง หายนะที่รออยู่

ปะการังฟอกขาวอ่าวไทย

ผลกระทบจากเอลนีโญ ที่กล่าวถึงบ่อยที่สุด ก็คือ ปัญหาปะการังฟอกขาว ประกอบกับสถานการณ์โลกร้อน และที่มากกว่านั้น ก็คือ ปะการังครึ่งหนึ่งจะเริ่มหายไปภายใน 20 ปี เพราะปะการังตาย จึงเป็นประเด็นหลักของโลก 

"เอลนีโญจะทำให้ปะการังฟอกขาวรุนแรงมากขึ้น ในเมืองไทยเจอปัญหาปะการังฟอกขาวซ้ำซ้อน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ปกติจะเกิด 5-7 ปีต่อครั้ง แต่ตอนนี้ทุก 3 ปี แม้จะมีปัญหาปะการังฟอกขาวไม่รุนแรง ฟอกๆ หายๆ ในบางพื้นที่ ที่เป็นปะการังน้ำตื้น แต่ผลกระทบเหล่านี้ทำให้ปะการังฟื้นตัวไม่ได้ เพราะอยู่ใกล้ชายฝั่งประมง และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวด้วย" อาจารย์ธรณ์ เล่า

อุณหภูมิน้ำทะเลสูง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การได้เห็นน้ำทะเลเปลี่ยนสีในหลายพื้นที่ กลายเป็นเรื่องปกติของคนทำงานด้านนี้ เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ปลาตายหรือปะการังฟอกขาวมากขึ้น

อาจารย์ธรณ์ เล่าถึงความถี่ของปรากฏการณ์นี้ว่า เห็นได้ชัดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ของปีนี้ แม้เดือนกรกฎาคมน้ำทะเลจะเปลี่ยนสีไม่รุนแรง แต่มีความถี่ของอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น

"ปีนี้ปัญหาคือ ฝนตกน้อย ตกๆ หยุดๆ มีแดดบ้าง ไม่มีบ้าง ทำให้น้ำเปลี่ยนสีง่ายขึ้น และอุณหภูมิความร้อน ทำให้น้ำร้อนแบ่งชั้น น้ำที่มีความร้อนมากหน่อยอยู่ด้านบน ส่วนน้ำเย็นอยู่ด้านล่าง ออกซิเจนไม่สามารถลงไปในน้ำชั้นล่าง จึงมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำด้านล่างทะเล ถ้าพวกมันหนีไม่ทันก็ตาย" อาจารย์ธรณ์ เล่า

เอลนีโญผสานโลกร้อน ปีหน้าแล้งสุดขั้ว อุณหภูมิน้ำทะเลสูง หายนะที่รออยู่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แล้ง ร้อน ปลาตาย

ปรากฏการณ์เอลนีโญ ไม่ได้ส่งผลแค่น้ำทะเลร้อน ปะการังฟอกขาว ยังส่งผลทำให้เกิดภาวะแล้งสุดขั้ว องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เตือนทุกประเทศในเรื่องเอลนีโญ แต่ละประเทศจึงตั้งรับและประเมินความเสียหาย 

อาจารย์ธรณ์ บอกว่า อเมริกาประเมินความเสียหายสูงมาก ชัดเจนเรื่องผลกระทบต่อโลกร้อน และเอลนีโญ สถานการณ์แย่สุดอยู่ในช่วงกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 67 โดยปกติน้ำทะเลเมืองไทยจะร้อนสุดเดือนเมษายน-พฤษภาคม

"ดูจากข้อมูลบริเวณที่โดนหลักคือ ชายฝั่งอ่าวไทย และอันดามันตอนล่างอยู่ในวงเอลนีโญในเรื่องน้ำทะเลร้อนที่ประเมินไว้ ซึ่งปัญหาหลักอยู่ที่อ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ครึ่งหนึ่งของประเทศ แม้ทะเลจะไม่สวยเหมือนหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ แต่การใช้ประโยชน์หลักๆ อยู่ด้านนี้

ไม่ว่าจะมีเอลนีโญ หรือปัญหาโลกร้อนจะเกิดขึ้นอย่างไร การบริหารจัดการสถานการณ์ก็ยังทำแบบปกติ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ไม่ปกติ อาจารย์ธรณ์ บอกว่า จริงๆ แล้วต้องวางแผนรับมือแล้ว แต่ยังไม่ทำ ปัญหาปะการังฟอกขาวบางแห่งสามารถป้องกันได้ และส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน

"กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หรือเรียกสั้นๆ ว่ากรมโลกร้อน  ซึ่งปรับโครงสร้างมาจาก “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ต้องเร่งทำงานให้เร็วที่สุด เพื่อประมวลผลกระทบ วางแนวทางจัดการ"

.................
ภาพเฟซบุ๊ก : Thon Thamrongnawasawat

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์