บีโอไอคุย “ฉางอัน-เฌอรี่ ออโตโมบิล” EV เบอร์ต้นจีน ลงทุนฐานผลิตในไทย

บีโอไอคุย “ฉางอัน-เฌอรี่ ออโตโมบิล” EV เบอร์ต้นจีน ลงทุนฐานผลิตในไทย

บีโอไอ นำทีมลุยฉงชิ่ง–เฉิงตู มหานครฝั่งตะวันตกของจีน พบผู้ผลิตอีวีรายใหญ่ “ฉางอัน – เฌอรี่ ออโตโมบิล” พร้อมนำคณะนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงาน WCIF มหกรรมแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคตะวันตก

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ มหานครฉงชิ่ง และนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิ.ย. 2566 ว่า คณะได้พบกับผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ของจีน ได้แก่ บริษัท ฉงชิ่ง ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด (Chongqing Changan Automobile) และบริษัท เฌอรี่ ออโตโมบิล จำกัด (Chery Automobile) ผู้ผลิตรถยนต์ EV อันดับที่ 5 – 6 ของจีน 

โดยได้หารือกันถึงความคืบหน้าของแผนการลงทุนในประเทศไทย นโยบายส่งเสริมการลงทุนและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีของไทย 

นายนฤตม์ กล่าวว่า จากการเข้าพบ Mr. Zhu Huarong ประธานบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด และทีมผู้บริหารระดับสูงบริษัทได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทย และยืนยันแผนการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรกประมาณ 9,000 ล้านบาท เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสของตลาดไทยและภูมิภาคอาเซียน และความพร้อมของไทยในการเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่โดดเด่นของภูมิภาค โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวรถยนต์ EV ในไทยช่วงปลายปีนี้ 

“สำหรับการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยได้เตรียมการฝั่งประเทศไทยพร้อมหมดแล้ว รอเพียงการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายจากรัฐบาลจีนเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการวิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในอนาคต เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต”

บีโอไอคุย “ฉางอัน-เฌอรี่ ออโตโมบิล” EV เบอร์ต้นจีน ลงทุนฐานผลิตในไทย

โดยบีโอไอได้นำเสนอภาพการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ในประเทศไทย มาตรการสนับสนุนล่าสุด รวมทั้งให้ความมั่นใจเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายสนับสนุนรถยนต์ EV และยินดีที่จะประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้การลงทุนของบริษัทประสบความสำเร็จ

ขณะที่บริษัท เฌอรี่ ออโตโมบิล จำกัด บีโอไอได้หารือกับผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านการลงทุนต่างประเทศของบริษัท ซึ่งมองว่าไทยเป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่เหมาะสำหรับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขับพวงมาลัยขวา เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยบริษัทให้ความสนใจประเทศไทยอย่างมาก  

ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรและพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในไทย ในส่วนของการเข้าสู่ตลาดไทยบริษัทมีแผนนำรถยนต์ไฟฟ้าแบบ SUV รุ่น OMODA 5 เข้ามาเปิดตลาดในไทยเป็นรุ่นแรกในช่วงต้นปี 2567 เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย 

“จากการหารือกับผู้ผลิตรถยนต์ EV รายใหญ่ของจีนทั้งสองราย มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ EV พวงมาลัยขวา เพราะมีความพร้อมด้านระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีตลาด EV ที่เติบโตสูงที่สุดในภูมิภาค ซึ่งบีโอไอได้ตอกย้ำมาตรการสนับสนุน EV แบบครบวงจรของภาครัฐ รวมทั้งความต่อเนื่องของนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม EV เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” นายนฤตม์ กล่าว

บีโอไอคุย “ฉางอัน-เฌอรี่ ออโตโมบิล” EV เบอร์ต้นจีน ลงทุนฐานผลิตในไทย

นอกจากนี้ บีโอไอได้นำคณะผู้ประกอบการจากสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคตะวันตกของจีน (The 19th Western China International Fair หรือ WCIF) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 งานระดับชาติของจีน และประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประเทศเกียรติยศ (Guest Country of Honor) เพียงประเทศเดียวในการจัดงานครั้งนี้ โดยมี นายเหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานเปิดงาน และศาสตราจารย์ พรเพชร วิชิตชลชัยประธานวุฒิสภา เข้าร่วมกล่าวในพิธีเปิดด้วย 

โดยภายในงาน บีโอไอได้ร่วมกับมณฑลเสฉวนและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู จัดสัมมนาในหัวข้อ China (Sichuan) - Thailand Investment Cooperation Conference ซึ่งบีโอไอ ได้นำเสนอโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จีนมีความเชี่ยวชาญ เช่น EV, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล และ BCG รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่างๆ โดยมีผู้บริหารภาคธุรกิจและสื่อมวลชนจีนให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 160 คน  

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ร่วมกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งนครเฉิงตู และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีแห่งเมืองเทียนฟู จัดกิจกรรมสัมมนาและเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด (Green Energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมทั้งระบบชาร์จไฟฟ้าและอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน 

ทั้งนี้ บีโอไอได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจหลายราย เช่น สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัทในกลุ่ม ปตท., ทีซีซี และสหยูเนี่ยน เป็นต้น   

ขณะที่ ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค. - พ.ค.) มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 93 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 31,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และเคมีภัณฑ์