มาตรการอุดหนุน 'EV' สิ้นสุด ก.ย.นี้ 'สนพ' ฝากความหวัง ‘รัฐบาลใหม่’ ต่ออายุ

มาตรการอุดหนุน 'EV' สิ้นสุด ก.ย.นี้ 'สนพ' ฝากความหวัง ‘รัฐบาลใหม่’ ต่ออายุ

จับตามาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะสิ้นสุดสิ้นเดือน ก.ย. 2566 นี้ "สนพ" ฝากความหวัง "รัฐบาลใหม่" ต่ออายุ หวั่น ต.ค. 2566 ราคาปรับขึ้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า นอกจากเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวส่งผลให้การใช้พลังงานในประเทศเพิ่มสูงขึ้นนั้น อีกปัจจัยจากภายนอกที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางพลังงานในประเทศไทย โดยปัจจัยที่ต้องจับตา คือ ภาวะความขัดแย้งสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ จึงทำให้ยังมีความไม่แน่นอนของการใช้พลังงาน โดยส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย

นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจรายใหญ่ด้านเศรษฐกิจ ทั้ง จีนและสหรัฐ ได้มีการประเมิณการณ์และคาดการณ์การเติบโตด้านเศรษฐกิจไว้ แต่ก็ยังไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ จึงจะมีผลต่อการดำเนินการทั้งภาคอุตสาหกรรม การผลิต การส่งออก หรือแม้แต่การบริโภค ล่วนเป็นปัจจัยยที่ส่งผลให้การเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ไม่อาจเป็นไปตามเป้าหมายด้วยเช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มการบริโภคที่อาจจะไม่เกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ในหลายมาตรการที่สนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจได้ใกล้จะหมดมาตรการสนับสนุน โดยหากเกี่ยวข้องกับสนพ. โดยตรงในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) อาจจะต้องรอความชัดเจนด้านมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลใหม่ เพราะมาตรการที่ผ่านมามีเรื่องของงบประมาณ อาทิ การให้เงินสนับสนุนส่วนลดสำหรับผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และมาตรการด้านภาษีนำเข้าสำหรับผู้ผลิต เป็นต้น

"มาตรการสนับสนุนอีวีที่รัฐบาลได้ส่งเสริมมาตรการตลอด 1 ปีที่ผ่านมาใกล้หมดลงแล้ว หากรัฐบาลไม่มีงบประมาณดูแลต่ออาจจะกระทบกับเป้าหมายการเติบโตของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปตามนโยบาย 30&30 แต่หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานเดิมก็คงจะไม่มีประเด็นอะไร" 

แหล่งข่าวจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand) กล่าวว่า สำหรับยอดจดทะเบียนรถอีวีในปี 2565 อยู่ที่ 9,729 คัน เติบโต จากปี 2564 ที่มีเพียง 1,935 คัน ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถอีวีในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 18,599 คัน ถือว่าได้รับการตอบรับดีมาก 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลรักษาการได้มีการทำแพ็กเกจเพื่อดึงดูดการลงทุนของค่ายรถยนต์เพิ่มเติมผ่านมาตรการอีวี 3.5 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการส่งเสริมรถอีวีไปถึงปี 2568 ซึ่งไม่ทันอนุมัติในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากใกล้จะยุบสภา แต่ก็มีความคาดหวังว่าจะได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลชุดใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชน

"นโยบายส่งเสริมรถอีวีปัจจุบันเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างมาก โดยผู้ผลิตรถอีวีสองค่าย ได้แก่ เนต้า (NETA) และบีวายดี (BYD) ได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานผลิตรถอีวีในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นปี และคาดว่า 1-2 ปีข้างหน้าโรงงานจะแล้วเสร็จ และจะมีอีกหลายค่ายรถที่จะเข้ามาก่อสร้างโรงงานในไทยทั้งโรงงานผลิตและโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า"

แหล่งข่าว กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนด้านราคาอีวีจะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2566 นี้ ดังนั้น เดือนต.ค. 2566 นี้ หากไม่มีการต่อมาตรการอีวี ราคาขายรถอีวี อาจแพงขึ้น เนื่องจาก 2 นโยบายกระตุ้นการใช้รถอีวีของรัฐบาล คือ รัฐบาลให้เงินอุดหนุนรถยนต์ EV 70,000 – 150,000 บาทต่อคัน และ รัฐบาลลดภาษีนำเข้า และ ภาษีสรรพสามิตต่างๆ ให้กับค่ายรถอีวีที่นำเข้ารถมาขายในประเทศไทย 

ทั้งนี้ อาจส่งผลให้ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ขายกันอยู่ในปัจจุบัน อาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องเสียภาษีมากขึ้น และ อาจจะต้องปรับราคาขายรถให้สูงขึ้น ชดเชยสัดส่วนเงินสนับสนุนที่จะหายไป 70,000 – 150,000 บาท เนื่องจากปัจจุบันราคารถอีวี  เป็นราคาที่รวมส่วนลดแล้ว ดังนั้น ถ้านโยบายส่งเสริมต่างๆหมดอายุ รถอีวี รุ่นต่างๆก็อาจจะกลับไปที่ราคาตั้งต้นก่อนได้รับส่วนลด เป็นต้น