ความท้าทายของอีอีซีในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

จากกระแสการย้ายฐานการผลิตของบริษัทนักลงทุนจากต่างชาติ แรงกดดันจากสงครามเทคโนโลยีที่รอวันปะทุ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าจ้างการผลิตในจีนช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต่างประเทศจำนวนมากเริ่มมองถึงการปรับเปลี่ยนเส้นทางการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากจีน

 หรือแม้กระทั่งการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียน 

มีบริษัทจำนวนมากอยู่ระหว่างการตัดสินใจหา “ฐานที่มั่น” การลงทุนใหม่ หนีภัยจากสงครามเทคโนโลยีหรือเทควอร์ มายังประเทศหนึ่งในอาเซียน ระหว่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย บีโอไอจึงปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และกำหนดมาตรการดึงดูดนักลงทุนกลุ่มนี้ เพื่อเบียดคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเวียดนามให้ได้

ในช่วงที่ผ่านมา การดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับกิจกรรมเศรษฐกิจโลกที่กลับมาเป็นปกติได้ค่อนข้างเร็วหลังวิกฤติโควิด-19 โดยเป้าหมายของอีอีซีคือ การเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์

การลงทุนในอีอีซียังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังของปี ยังมีปัจจัยท้าทายอีอีซีซึ่งอาจเป็นแรงฉุดรั้งการขยายตัวของการลงทุนในอีอีซีได้ ไม่ว่าจะเป็น

ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้างอาจเปลี่ยนโลกไปสู่ยุค De-globalization หรือกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ ทั้งนี้ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี 5G ระหว่างสหรัฐ และจีน และระหว่างจีนและไต้หวัน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงการเกิดปัญหาขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก

ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน แม้ปัญหานี้เริ่มผ่อนคลายลง แต่ก็ชี้ให้เห็นแนวโน้ม 1) การลงทุนที่มีการกระจายหรือไม่กระจุกอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยง 2) การลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น 3) การลงทุนสีเขียวจากกระแสความยั่งยืน และการมุ่งเป้าเพื่อให้บรรลุการกำจัดคาร์บอน

เวียดนาม คู่แข่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) บริษัทระดับโลกหลายแห่งได้ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศต้นทางไหลเข้าเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เวียดนามมีอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เช่น การเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP การทำ FTA กับอียู การได้รับสิทธิพิเศษ GSP ตลอดจนเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีทั้งก่อนและหลังโควิด-19

ความล่าช้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อเป้าหมายการลงทุนมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนล้านบาท ในอีอีซีระยะ 5 ปีนี้ (พ.ศ. 2566-2570)

ความชัดเจนด้านนโยบายอีอีซีของรัฐบาลใหม่ มีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทย มาตรการดึงดูดนักลงทุน ทั้งนี้ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และการสร้างความเข้มแข็งจากภายในสู้ศึกสงครามเทคโนโลยี จะช่วยลดทอนผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยได้

ไทยมีโอกาสถูกเลือกเป็นประเทศปลายทางในการย้ายฐานการผลิต หลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศคู่ขัดแย้งในสงครามเทคโนโลยี เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับกิจการของตน โดยไทยเองมีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ ทั้งแหล่งที่ตั้งเหมาะสม สภาพแวดล้อมดี แพ็กเกจเร่งรัดการลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิต และซัพพลายเชนครบวงจร

ถึงตรงนี้ คาดหวังว่าผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ จะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น และ “อีอีซี” คงได้รับการสานต่อจากรัฐบาลใหม่ รวมถึงเป็นหนึ่งในเมนูนโยบายที่คาดหมายว่าจะได้รับการแถลงต่อรัฐสภาเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดฐานลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในระยะยาว

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์