'จุฬา' หวังตั้งรัฐบาลชัดเจน หนุนความเชื่อมั่นลงทุน 'อีอีซี'

'จุฬา' หวังตั้งรัฐบาลชัดเจน  หนุนความเชื่อมั่นลงทุน 'อีอีซี'

“จุฬา” มั่นใจ อีอีซียังเนื้อหอม ทุนนอก อินเดีย จีน-จ่อลงทุนเพิ่ม แม้เปลี่ยนรัฐบาล ชี้สิทธิประโยชน์เพียงพอ ยันไม่มีสัญญาณนักลงทุนแห่ย้ายฐานการผลิต

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะยังต้องรอการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งต้องมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเงื่อนไขการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วย โดยที่ผ่านมานักธุรกิจได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุน

จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาในไทยยังมีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ถือว่ายังเดินหน้าไปได้ดีแม้ว่าจะอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล 

“มีกลุ่มนักลงทุนที่สนใจเข้ามาพูดคุยและสอบถามเกี่ยวกับการลงทุนส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งที่มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์และการผลิตยา”

ส่วนการลงทุนที่ก่อนหน้านี้มีการตัดสินใจลงทุนในไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบว่ามีการชะลอการลงทุนเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนรอรัฐบาลใหม่ที่อาจมีการออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนนักลงทุน จึงมีการชะลอการลงทุนบ้างเพื่อรอความชัดเจนและการปรับเปลี่ยนโยบายหากมีความชัดเจนแล้วก็พร้อมลงทุนเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้การย้ายฐานการผลิตของบริษัทเอกชนที่มีการลงทุนในอีอีซี ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณของการย้ายฐานการผลิตออกจากไทยแต่อย่างไร เพราะหลายบริษัทเพิ่งประกาศแผนการลงทุนใหม่ หรือลงทุนเพิ่มในอีอีซีจึงไม่เห็นเหตุผลในการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศอื่น เพราะในไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนมากกว่าอีกหลายประเทศ

 

\'จุฬา\' หวังตั้งรัฐบาลชัดเจน  หนุนความเชื่อมั่นลงทุน \'อีอีซี\'

“แม้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่ภาคเอกชนเขาไม่รอ เมื่อมีความพร้อมเขาก็ลงทุน เพราะในอีอีซีมีมาตรการจูงใจในการลงทุนทั้งในส่วนของมาตรการภาษี และการอำนวยความสะดวกอยู่แล้ว เพื่อดึงดูดการลงทุนซึ่งประเทศไทยถือว่ายังเนื้อหอม เพราะเรามีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่งเสริมชัดเจน มีพื้นที่อีอีซีที่มีความพร้อมรองรับการลงทุน ถือเป็นท็อป 5 ของประเทศที่น่าลงทุน”

นอกจากนี้ ในช่วงรอยต่อของรัฐบาลยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมดึงการลงทุนจากต่างประเทศต่อเนื่อง โดยได้มีการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อต่อยอดความร่วมมือไทย-รัสเซีย เช่น การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา กีฬา วัฒนธรรม คมนาคม การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข

ทั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยและรัสเซียรู้จักกันมากขึ้น โดยทางรัสเซียได้นำเสนอพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออกไกลและพื้นที่อาร์คติก รวมทั้งได้ให้ความสนใจข้อมูลด้านการขนส่ง และโลจิสติกส์ รวมถึงสิทธิประโยชน์ในอีอีซี

รวมทั้งได้หารือกับสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อหารือถึงแนวทางการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง สกพอ.และบีโอไอ โดยเห็นแนวโน้มว่าไทยยังในอยู่ในความสนใจของนักลงทุนจากประเทศในสหภาพยุโรป จากปัจจัยบวกด้านความพร้อมด้านระบบขนส่ง สาธารณูปโภค การสร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีและระบบ 5G เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี