'อีอีซี'ทบทวนแผน5ปี เตรียมรับฟังความเห็น ก่อนเสนอ 'รัฐบาลใหม่'

'อีอีซี'ทบทวนแผน5ปี  เตรียมรับฟังความเห็น ก่อนเสนอ 'รัฐบาลใหม่'

“จุฬา”เผยอยู่ระหว่างทบทวนแผนEEC 5 ปี 2566-2570 เตรียมรับฟังความเห็นเสนอรัฐบาลใหม่ เน้นแผนเชื่อมโยงอุตสาหกรรม-ชุมชน สร้างซัพพลายเชนลงระดับพื้นที่ ดันอุตสาหกรรมเวลเนสบริการการแพทย์ สร้างรายได้เพิ่ม ชี้หากเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการบอร์ดในอีอีซี ต้องแก้กฎหมาย

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นแนวทางการพัฒนาที่ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ 1" และมีการออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อวางกลไกการพัฒนา

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำลังทบทวนแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกระยะ 5 ปี (2566-2570) ที่จะใช้ในช่วงรัฐบาลใหม่รัฐบาลใหม่ 

จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า หลังจากมีการทบทวนและจัดทำแผนฉบับปรับปรุงแล้วเสร็จ จะรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอต่อรัฐบาลใหม่ในการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ต่อไป

 

ทบทวนแผนอีอีซี 5 ปี เชื่อมโยงชุมชน

ทั้งนี้ในการทบทวนแผนดังกล่าวอีอีซีให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งปัจจุบันได้แบ่งเป็น 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมได้แก่  การแพทย์และสุขภาพ นวัตกรรมดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม BCG และบริการ ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชนด้วย

รวมทั้งจัดทำข้อแนะนำสำหรับการลงทุนในอีอีซีว่าควรลงทุนอุตสาหกรรมใด ซึ่งคล้ายกับการจัดโซนนิ่งในพื้นที่ เช่น พื้นที่มีศักยภาพด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรก็ส่งเสริมให้มีการตั้งโรงงานแปรรูป โดยมีการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับพื้นที่ที่มีการจัดโซนนิ่งซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และประชาชนทั่วไปก็สามารถทำธุรกิจที่ไปกันได้กับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ ซึ่งเป็นกลไกที่จะทำให้การพัฒนาอีอีซีสามารถเกิดความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนช่วยลดช่องว่างระหว่างท้องถิ่น และชุมชนได้

สำหรับการทบทวนแผนภาพรวมของอีอีซีอุตสาหกรรมที่ยังเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ นั้นยังมุ่งไปที่อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีจุดแข็งและเป็นที่สนใจของนักลงทุน 

 

เพิ่มมิติอุตสาหกรรมบริการ

อย่างไรก็ตามอีอีซีต้องการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภาคบริการ (Service Sector) รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมและธุรกิจในกลุ่มเวลเนส (Wellness) ซึ่งมีการเติบโตอย่างมาก และธุรกิจในกลุ่มนี้จีน และอินเดียสนใจจะเข้ามาลงทุนจำนวนมากซึ่งจะเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างการเติบโตในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง

 

เพิ่มองค์ประกอบภาคประชาชนในบอร์ดต้องแก้กม.

ส่วนแนวคิดพรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีความต้องการให้ปรับโครงการสร้าง กพอ.เพื่อเพิ่มองค์ประกอบของตัวแทนจากภาคประชาชน เห็นว่าหากจะทำในรูปแบบนี้จริงต้องเสนอแก้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประกอบ กพอ. เพราะปัจจุบันกรรมการส่วนใหญ่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง โดยนอกจากหัวหน้าส่วนราชการ และมีองค์ประกอบที่เป็นตัวแทนจากภาคเอกชน เช่น ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามมองว่าองค์ประกอบในการทำงานของ กพอ.ปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกับภาคประชาชน และชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซีนั้น สกพอ.ทำงานกับชุมชนและภาคประชาชนมาต่อเนื่อง และตั้งคณะทำงานร่วมกันในเรื่องต่างๆเพื่อพัฒนาชุมชน และพัฒนาอีอีซีร่วมกัน

 

พร้อมเปิดเวทีฟังส.ส.ใหม่สะท้อนปัญหาในพื้นที่

สำหรับกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างอีอีซีกับสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่ที่มีการปรับเปลี่ยนหลังจากที่มีการเลือกตั้งนั้นมองว่าไม่มีปัญหาเพราะว่าอีอีซีมีการทำงานและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอยู่แล้ว ส.ส.ในพื้นที่อีอีซีก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสะท้อนการทำงาน และนำเสนอข้อมูลมายังอีอีซี

ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาอีอีซีให้ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น