'พลังงาน' เล็งตั้ง 'ไฮโดรเจน วัลเลย์' นำร่องพื้นที่อีอีซี หนุนการใช้งาน

'พลังงาน' เล็งตั้ง 'ไฮโดรเจน วัลเลย์' นำร่องพื้นที่อีอีซี หนุนการใช้งาน

"พลังงาน" โดยสนพ. เปิดแผนตั้งศูนย์ "ไฮโดรเจน วัลเลย์" นำร่องในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เกิดการใช้งานแพร่หลาย หวังภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้งานดันกำลังผลิตเพิ่ม หนุนต้นทุนถูก

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง “ไฮโดรเจน : พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต ตอบโจทย์สภาวะโลกร้อน ?” จัดโดย คณะกรรมาธิการ การพลังงาน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 ว่า สนพ. มีแผนสนับสนุนพลังงานสะอาดจากไฮโดรเจนตั้งแต่ระยะสั้น และระยะยาว โดนจะเริ่มจากการนำร่องการใช้งาน และขยับเป็นการผลักดันให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ส่วนระยะยาวจะกำหนดสัดส่วนไปที่กรีนไฮโดรเจน ที่ขณะนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สนพ. ต้องทำให้มีต้นทุนที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม สนพ. จะผลักดันผ่านยุทธศาสาสตร์ต่าง ๆ อาทิ ผ่านงานวิจัยเพื่อลดต้นทุน กระตุ้นให้เกิดการใช้งาน พร้อมกับมาตรการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจทั้งผู้ใช้งานและผู้ผลิต ส่วนโครงสร้างพื้นฐานจะรองรับในแต่ละระดับ ทั้งไฟฟ้า อุตสาหกรรม ขนส่ง จะต้องมีการทดสอบระบบขนส่งโดยเฉพาะท่อขนส่งไปยังในจุดที่ใช้งานในสถานีต่าง ๆ ซึ่งภาครัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องต้องหารือเพื่อวางเป้าหมายสถานีให้เป็นไปตามแผน รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบสร้างมาตรฐาน ดังนั้น สนพ. ต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอคำปรึกษาแล้วปรับแผนให้เหมาะสม สามารถผลักดันให้เกิดการใช้จริง

“สนพ. มองว่าจากโรดแมปที่มีอยู่จะต้องเดินในมิติต่าง ๆ ซึ่งคาดหวังว่าจะมีโครงการนำร่องพื้นที่ใช้จริง เช่นการสร้างไฮโดรเจน วัลเลย์ ในพื้นที่ใช้งานอย่างแพร่หลาย อาทิ ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นต้นแบบกระบวนการจัดหา กำกับ ใช้ ทดสอบ จะสามารถแสดงผลจริง ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราอาจเสนอแนวทางนโยบายให้เกิดโครงการนำร่องต่อไป”

อย่างไรก็ตาม มองว่าการจะใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์น่าจะหลังปี 2030 ไปแล้ว จากจะเร่งให้เร็วกว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐ เพื่อให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในหประเทศไทยปี 2040 ส่วนการใช้ในภาคผลิตไฟฟ้า ปริมาณไฮโดรเจนที่ผสมกับก๊าซอาจอยู่ที่ 20-25% เป็นพื้นฐานก่อน เพราะต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น การบริหารนโยบายต้องมองภาพรวมประเทศเป็นหลัก หากเป็นผลบวกหรือลบ