เปิดแผน ‘อู่ตะเภา’ ลงทุน 4 หมื่นล้าน แอร์พอร์ตซิตี้ หนุนผู้โดยสาร 60 ล้านคน/ปี

เปิดแผน ‘อู่ตะเภา’ ลงทุน 4 หมื่นล้าน แอร์พอร์ตซิตี้ หนุนผู้โดยสาร 60 ล้านคน/ปี

3 พันธมิตร “บีเอ-บีทีเอส-ซิโนไทย” ลุยเพิ่มทุนในยูทีเอ หนุนเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมเดินหน้าอู่ตะเภาตอกเสาเข็มปลายไตรมาส 4 เปิดแผนลงทุน 4 หมื่นล้าน ใช้กลยุทธ์แอร์พอร์ตซิตี้ ดึงผู้โดยสารเข้าไทยตามเป้าปีละ 60 ล้านคน เร่งดึงพันธมิตรต่างชาติ พร้อมเปิดปี 2570

Key points

  • UTA และ สกพอ.ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 แต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง
  • โควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมการบินหดตัวและทำให้มีมาตรการช่วยเหลือ UTA
  • บอร์ด BA , BTS และ ซิโนไทย ได้อนุมัติเพิ่มทุนใน UTA โดยมั่นใจผลตอบแทนการลงทุนระยะยาว
  • มีการเพิ่มวงเงินลงทุนเมืองการบินจาก 4,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาท เพื่อดึงให้ผู้โดยสารมากขึ้น

ภายหลังการลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่าง บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ผ่านมา 3 ปี ยังไม่เริ่มก่อสร้าง หลังจากอุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปรับมาสเตอร์แพลนการพัฒนาสนามบิน รวมทั้งมีการปรับรายละเอียดการลงทุนเพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2566 เห็นชอบการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เช่น การปรับการจ่ายค่าเช่าที่ดินและรายได้ของรัฐรายปี แต่ยังคงผลตอบแทนรวมในปีที่ 50 ไว้ที่ 84,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ราย ได้เพิ่มทุนใน UTA โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 

1.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA โดนคณะกรรมการ BA เห็นชอบเพิ่มทุนใน UTA ตามสัดส่วนที่ BA ถือหุ้น 45% คิดเป็นเงินลงทุนจำนวน 4,725 ล้านบาท โดยธุรกรรมนี้จะเกิดขึ้นภายในปี 2567 และส่งผลให้คงสัดส่วนการถือหุ้นใน UTA เท่าเดิมที่ 45% รวมทั้งคณะกรรมการ BA มองว่าการเพิ่มทุนจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นในรูปแบบเงินปันผลและผลกำไรจากเงินลงทุน

รวมทั้งโครงการดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตพร้อมกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย จึงเป็นโอกาสที่จะเพิ่มการลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนระยะยาว

2.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS โดยคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติเพิ่มทุนใน UTA ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 35% คิดเป็นวงเงินเพิ่มทุน 3,675 ล้านบาท ซึ่ง BTS ได้เตรียมพร้อมสำหรับวงเงินเพิ่มทุนดังกล่าวแล้ว เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ได้ลงทุนไปกว่า 3,000 ล้านบาท ในส่วนงานที่รับผิดชอบ อาทิ การออกแบบสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมถึงการจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อศึกษาโครงการ

3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิมที่ 20% คิดเป็น 1,200 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินทุนหมุนเวียน เงินสดจากผลประกอบการ เงินกู้จากสถาบันการเงิน และการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินบริษัท

ซิโน-ไทย มองว่าการลงทุนในโครงการนี้จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวจากเงินปันผลและผลกำไรจากเงินลงทุน เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตไปพร้อมกับ EEC

เปิดแผน ‘อู่ตะเภา’ ลงทุน 4 หมื่นล้าน แอร์พอร์ตซิตี้ หนุนผู้โดยสาร 60 ล้านคน/ปี

เพิ่มทุนเพิ่มเชื่อมั่นให้พันธมิตร

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า การเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นใน UTA ทั้ง 3 ราย จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาครัฐและพันธมิตรไทยและต่างชาติว่ายูทีเอมีความตั้งใจจริงในการลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมทั้งจะเป็นการส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการก่อสร้าง

การเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นการเพิ่มจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท ซึ่งยูทีเอมองว่าผู้ถือหุ้นใส่เงินเข้ามามากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งการจะเชิญพันธมิตรระดับโลกเข้ามาร่วมพัฒนาก็ต้องแสดงให้เห็นความตั้งใจเช่นนี้

“ผู้ถือหุ้นทั้ง 3 บริษัทมีความมั่นใจถึงศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภา จึงได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มทุน และคงไม่เอาชื่อเสียของแต่ละบริษัทมาทิ้ง” นายวีรวัฒน์ กล่าว

เพิ่มงบลงทุนเป็น 4 หมื่นล้าน

สำหรับการลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกได้เพิ่มวงเงินการลงทุนจาก 4,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกเงื่อนไขที่ยูทีเอยื่นข้อเสนอเพื่อแลกกับการยืดหยุ่นในการพัฒนาโครงการ เช่น การเริ่มนับอายุสัญญา โดยถ้าไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้ผู้โดยสารขยายตัวตามแผนที่วางไว้ แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นทำให้อุปสงค์หายไป และทำให้หลายสายการบินต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ

ดังนั้นหากมีการปล่อยให้ดีมานด์ขยายตัวตามธรรมชาติจะมีโอกาสที่ผู้โดยสารต่อปีจะไม่ถึง 60 ล้านคนภายใน 50 ปี ดังนั้นจึงต้องมีการยกระดับเมืองการบินที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามา ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์การค้า สวนสนุก สวนน้ำ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการใช้ชีวิตในเมืองการบิน

สำหรับวงเงินการลงทุน 40,000 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบไฟฟ้า น้ำประปา โทรคมนาคม ในขณะที่การพัฒนาเมืองการบินในพื้นที่ 6,500 ไร่ มีการประเมินว่าจะมีวงเงิน 200,000 ล้านบาท

ดึงต่างชาติร่วมพัฒนาเมืองการบิน

ทั้งนี้ UTA จะไม่ใช่ผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยจะเป็นผู้วางแนวคิดรวบยอดของเมืองการบินและหาพันธมิตรมาร่วมพัฒนา โดยยูทีเอเริ่มกับพันธมิตรไทยและต่างชาติแล้วว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ โดยส่วนใหญ่ที่หารือจะเป็นต่างชาติทั้งในรูปแบบมาร่วมพัฒนาและการเป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วย 1.ห้างสรรพสินค้าและค้าปลีก 2.ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ 3.ผู้จัดอีเวนท์ระดับโลก 4.โรงแรม

“แนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะเป็นการดึงคนให้เข้ามาในเมืองการบิน และจะทำให้มีผู้โดยสารเต็ม 60 ล้านคน ภายใน 50 ปี”

สำหรับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาได้มีความร่วมมือกับผู้บริหารสนามบินระดับโลก 3 ราย เพื่อเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาสนามบิน ประกอบด้วย 1.นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการดูแลผู้ใช้สนามบิน 2.มิวนิค อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาสนามบินประเทศตลาดเกิดใหม่ 3.ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต มีความเชี่ยวชาญการขนส่งทางอากาศเชื่อมทางน้ำ และมีการขนส่งคาร์โก้อันดับ 1ของโลก รวมทั้งมีเมืองการบินที่รองรับผู้เดินทางจากทั่วโลก

ปรับแผนตามการฟื้นตัวการบิน

สำหรับมาสเตอร์แพลนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจากเดิมที่กำหนดไว้ 4 เฟส ได้ปรับเป็น 6 เฟส เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างรุนแรง โดยเดิมแบ่งเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ปี 2570 รองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน , ระยะที่ 2 ปี 2577 รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน , ระยะที่ 3 ปี 2590 รองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคน และระยะที่ 4 ปี 2603 รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน

ขณะที่มาสเตอร์แพลนใหม่แบ่งเป็น 6 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคน , ระยะที่ 2 ปี 2570 รองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน , ระยะที่ 3 รองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคน , ระยะที่ 4 ปี 2577 รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน , ระยะที่ 5 ปี 2590 รองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคน และระยะที่ 6 ปี 2603 รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน

“การปรับมาสเตอร์แพลนทำให้ไม่ต้องสร้างอาคารผู้โดยสารที่ใหญ่เกินไป เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปหลังมีโควิด-19 แต่ท้ายที่สุดยังคงเป้าหมายการรองรับผู้โดยสารที่ 60 ล้านคน ในปี 2603” นายวีรวัฒน์ กล่าว

เริ่มก่อสร้างไตรมาส 4 ปีนี้

นอกจากนี้ UTA คาดว่าจะได้รับหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ได้ปลายไตรมาส 4 ปี 2566 หรือต้นไตรมาส 1 ปี 2567 หลังจากนั้นจะเข้าพื้นที่เพื่อปรับพื้นที่และตอกเสาเข็มเริ่มก่อสร้าง

รวมทั้งมองว่าการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยแนวทางการดำเนินงานจะให้สนามบินและเมืองการบินทำงานเกื้อกูลกัน เพื่อรองรับทั้งการเดินทางมาท่องเที่ยวและการเดินทางมาเพื่อทำงาน ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน และปัจจุบันไทยยังไม่ถือเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นและฮ่องกง

“ทั้งการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินจะทยอยเสร็จและเปิดบริการไล่เลี่ยกันในปี 2570” นายวีรวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ การเริ่มนับสัญญาร่วมลงทุนได้มีการปรับจากเดิมที่เริ่มนับในปีที่ 4 เมื่อก่อสร้างเสร็จ โดยแผนใหม่จะมีช่วงเวลาก่อสร้าง 3 ปี หลังจากนั้นจะเป็นช่วงเยียวยาผลกระทบจากเหตุผ่อนผันไม่เกิน 5 ปี และหลังจากนั้นจะเริ่มนับปีที่ 1 ของสัญญาเมื่อปริมาณผู้โดยสารต่อปีอย่างน้อย 5.6 ล้านคน