การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างไรในเชิงพื้นที่

การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างไรในเชิงพื้นที่

บทความนี้จะชวนผู้อ่าน มาเจาะลึกประเด็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน ว่ามีลักษณะอย่างไร กระจายตัวทั่วถึงหรือไม่ในเชิงพื้นที่ และยังช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศได้ดีเช่นเดิมหรือไม่ในระยะต่อไป

ภาคการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยช่วงก่อนเกิดโควิดเคยสร้างรายได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของ GDP ซึ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 ใน 3 และนักท่องเที่ยวไทย 1 ใน 3 และช่วยสร้างการจ้างงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 20% ของการจ้างงานทั้งหมดในปี 2562

จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวดีแล้ว แต่รายได้ฟื้นตัวอย่างไร

ในภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว บทความนี้ใช้รายได้ภาคการท่องเที่ยวมาจาก “นักท่องเที่ยว” แทนคำว่า “ผู้เยี่ยมเยือน” เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น แต่กลับพบว่าระดับการฟื้นตัวของรายได้ยังต่ำกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว โดยรายได้ฟื้นตัวเพียง 65% ของระดับก่อนโควิด

สะท้อนจากราคาห้องพักที่ถูกลงจากอุปสงค์ที่ลดลงไปมากในช่วงที่โควิดระบาดหนัก และยังไม่กลับสู่ระดับปกติ ประกอบกับโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติรายสัญชาติเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสัดส่วนนักท่องเที่ยวอาเซียนที่มากขึ้น และมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ประหยัดมากขึ้น

การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างไรในเชิงพื้นที่

การฟื้นตัวของรายได้ภาคการท่องเที่ยวแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ (Uneven Recovery) โดยพื้นที่ที่ปกติพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างเช่น ภาคใต้และภาคตะวันออก ฟื้นตัวช้ากว่าพื้นที่ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก

เช่น ภาคตะวันตก กลางและเหนือ (ภาพประกอบ) ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศของหลายประเทศทั่วโลก 

รวมถึงไทยที่เพิ่งยกเลิกมาตรการในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หลังการระบาดคลี่คลายลง ขณะที่มาตรการควบคุมโรคระบาดในประเทศเริ่มผ่อนคลายเร็วกว่า

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์เจาะลึกแยกเป็นกลุ่มจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติก็จะพบเรื่องราวของการฟื้นตัวที่น่าสนใจแตกต่างกัน

การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างไรในเชิงพื้นที่

การฟื้นตัวของรายได้ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีความแตกต่างกัน ขึ้นกับการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวแต่ละสัญชาติ โดยมีเพียงไม่กี่จังหวัดที่รายได้ฟื้นตัวเร็วอย่างเช่น ภูเก็ต และกรุงเทพฯ 

โดยเฉพาะภูเก็ตที่ได้รับผลดีจาก “โครงการ Sandbox” ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนคน จากราว 5 พันคนในครึ่งปีแรก และปัจจุบันยังฟื้นตัวต่อเนื่อง

เพราะเป็นจังหวัดซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวยุโรป และได้รับผลดีจากการเปิดประเทศของยุโรปที่เร็ว และพฤติกรรมของชาวยุโรปที่กังวลต่อการระบาดของโควิดน้อยกว่านักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีจังหวัดท่องเที่ยวบางส่วนที่ยังฟื้นตัวปานกลาง อย่างเช่น ชลบุรี เพราะพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีน รัสเซียและเอเชีย ซึ่งเปิดประเทศค่อนข้างช้า 

รวมถึงกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ สงขลา ยะลา และนราธิวาส ที่แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาตินำโดยชาวมาเลเซียจะฟื้นตัวเร็วตั้งแต่เริ่มเปิดด่านชายแดนเป็นวงกว้างเมื่อ พ.ค.2565

และได้เดินทางข้ามชายแดนทางบกในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 65% เป็น 75% ในปัจจุบัน แต่กลุ่มนี้มักจะอยู่พำนักระยะสั้นและใช้จ่ายไม่สูง จึงทำให้การฟื้นตัวในมิติรายได้จากการท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับปานกลาง

ส่วนจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก รายได้ “ไทยเที่ยวไทย” ในหลายจังหวัดฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว และสูงกว่าระดับก่อนโควิด และกระจายตัวทั้งในกลุ่มจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ และจังหวัดเมืองรองในภาคเหนือ โดยจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ

อาทิ สระบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรสงคราม ฟื้นตัวเร็วจากกระแสความนิยมเที่ยวระยะใกล้แบบไปเช้าเย็นกลับ และตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 

ทำให้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดนี้เพิ่มขึ้นราว 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด แม้ว่าการใช้จ่ายต่อหัวยังคงต่ำกว่าก่อนโควิด (ลดลงประมาณ 32% จาก 4,645 บาทต่อคนต่อทริป)

ส่วนกลุ่มจังหวัดเมืองรองในภาคเหนือ เช่น แพร่ ลำปางและเชียงราย ฟื้นตัวเร็วจากตอบโจทย์การหลีกเลี่ยงความหนาแน่นของผู้คนในช่วงที่มีการระบาด นอกจากนี้ จังหวัดดังกล่าวยังคงเสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติไว้ได้อย่างดีอีกด้วย

การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างไรในเชิงพื้นที่

การฟื้นตัวของ “ไทยเที่ยวไทย” กระจายสู่เมืองรอง และส่งผลดีต่อการจ้างงานในพื้นที่

ผลดีจากกระแสการท่องเที่ยวในเมืองรองของคนไทย ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวรวมในเมืองรองฟื้นตัวราว 85% เทียบกับระดับก่อนโควิด และเร็วกว่าเมืองหลักที่ฟื้นตัวราว 62% ของระดับก่อนโควิด

ทั้งยังส่งผลให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวในภาพรวมกระจายไปเมืองรองมากขึ้นกว่าในอดีต ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังค่อนข้างกระจุกตัวในเมืองหลัก

การกระจายตัวของรายได้ท่องเที่ยวส่งผลบวกไปยังภาคแรงงานด้วยเช่นกัน สะท้อนจากรายได้ของลูกจ้างในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะรายได้ของลูกจ้างในเมืองรองซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นในบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ 

จากการสอบถามผู้ประกอบการโรงแรม พบว่า ลูกจ้างยังได้รับค่า Service Charge ที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลดีไปยังรายได้ของกลุ่มอาชีพอิสระในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจระดับพื้นที่ด้วย

โดยสรุป แม้ว่าในปัจจุบันรายได้ภาคการท่องเที่ยว จะยังฟื้นตัวต่ำกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากผลของค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ลดลง และการฟื้นตัวของรายได้ก็มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ในมิติของการกระจายตัว เห็นทิศทางที่ทั่วถึงมากขึ้นโดยเฉพาะในเมืองรอง 

แต่คำถามที่น่าคิด คือเมื่อผ่านพ้นระยะฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เทรนด์ของการท่องเที่ยวเมืองรองที่มากขึ้นนี้ดำเนินต่อไป เพื่อกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ไปสู่ประชาชนระดับท้องถิ่นมากขึ้น

รวมถึงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น หรือเดินทางท่องเที่ยวในไทยนานขึ้น เพื่อยกระดับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวในอนาคต และเป็นแรงส่งให้เครื่องยนต์ที่สำคัญนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน

บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท. การกล่าวหรืออ้างอิงข้อมูลในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้อง และอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างไรในเชิงพื้นที่