ททท. ชูท่องเที่ยวทั้งปี-ยั่งยืน-เท่าเทียม ชงรัฐบาลใหม่ฟื้นรายได้ 3 ล้าน ลบ.

ททท. ชูท่องเที่ยวทั้งปี-ยั่งยืน-เท่าเทียม ชงรัฐบาลใหม่ฟื้นรายได้ 3 ล้าน ลบ.

เมื่อ 'รัฐบาลใหม่' เข้ามาบริหารประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองว่าต้องให้ความสำคัญกับ 'ภาคการท่องเที่ยว' ซึ่งสร้างรายได้มหาศาล! เมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด สร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศถึง 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 20% ของจีดีพีประเทศไทย

ด้วยการเร่งโปรโมตและจัดกิจกรรมดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยมากขึ้น พร้อมชูจุดขายสอดรับกับเทรนด์ใหม่อันยั่งยืน เช่น ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” ของโลก

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ ททท. ล่าสุด ได้หารือเกี่ยวกับการจัดเตรียมแผนงานด้านการท่องเที่ยวไทยเพื่อนำเสนอ "รัฐบาลใหม่" 3 เรื่องหลัก ได้แก่

เรื่องที่ 1 “ท่องเที่ยวทั้งปี” กระตุ้นให้เกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ด้วยการนำเสนอสินค้าท่องเที่ยวน่าสนใจ อุดช่องว่างช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซัน) ที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยเดินทาง ลดความเสี่ยงรายได้ท่องเที่ยวตกท้องช้างกลางปี

เรื่องที่ 2 “ท่องเที่ยวยั่งยืน” สอดรับกับเทรนด์โลกเรื่องความยั่งยืน มาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการทำตลาด สร้างเป็นจุดขายใหม่ กระตุ้นให้เกิดดีมานด์การเดินทาง

เรื่องที่ 3 “ท่องเที่ยวเท่าเทียม” เพื่อสร้างการเติบโตแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ควบคู่กับการสร้างความเป็นธรรม (Fairness)

“ททท.มุ่งล็อกเป้าดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ สร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก”

แม้ตอนนี้ ททท.ยังไม่มีโอกาสได้หารือร่วมกับว่าที่รัฐบาลใหม่ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เรียบร้อย แต่จากการประเมินนโยบายของพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลนั้น เห็นว่ามีความคล้ายกันในเรื่องการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีหลายเรื่องที่ ททท.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงมีอีกหลายเรื่องที่หวังว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา จะช่วยผลักดันเพิ่มเติม โดยมีจุดหมายเดียวกันคือทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมา และเศรษฐกิจไทยกลับมาอีกครั้ง!

ส่วนนโยบายผลักดัน “สุราก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล แกนนำจัดตั้งรัฐบาล มองว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของ “การใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของนักท่องเที่ยว ประเมินว่าจะเข้าไปช่วยเพิ่มการใช้จ่ายให้มากขึ้นได้ เหมือนรายการอาหารที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปในแต่ละจังหวัด ก็ต้องการชิมเมนูอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดนั้นๆ เพื่อลองรสชาติแปลกใหม่ สนับสนุน “การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์” ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของ ททท. เป็นการสร้าง “ผลิตภัณฑ์ใหม่” (New Product) ขึ้นมา โดยในทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยกระตุ้นดีมานด์ เกิดการใช้จ่าย ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสุราก้าวหน้าไม่ได้เป็นเพียงตัวกระตุ้นการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่พูดถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละขนาด รวมถึงเป็นการกระจายความมั่งคั่งที่เกิดจากภาคการท่องเที่ยวลงไปในระดับท้องถิ่นและชุมชนมากขึ้น แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ข้อกฎหมาย” ยุทธศักดิ์กล่าว

ททท. ชูท่องเที่ยวทั้งปี-ยั่งยืน-เท่าเทียม ชงรัฐบาลใหม่ฟื้นรายได้ 3 ล้าน ลบ.

ด้าน จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บเล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรม “ไมซ์” (MICE : การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ในประเทศ ที่มีอัตราการเติบโตของนักเดินทางไมซ์ไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง 5% ซึ่งคำนวณจากช่วงสถานการณ์ปกติตั้งแต่ปี 2560-2562 โดยมีแนวโน้มการขยายการจัดงานไมซ์ของหน่วยงานองค์กร รวมถึงการเดินทางของนักเดินทางไมซ์กระจายไปยังภูมิภาคทั่วประเทศ

ทีเส็บพร้อมเดินหน้าปรับทัพชูแผนบูรณาการผลักดัน “อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ” ปีนี้ ภายใต้แนวคิด “มิติไมซ์ มิติใหม่ ไมซ์ดีดีที่เมืองไทย” เพื่อสร้างเครือข่ายขยายโอกาสทางการตลาด และสนับสนุนการทำงานร่วมกันสู่ความสำเร็จ โดยกำหนดโครงสร้างฝ่ายงานส่งเสริมไมซ์ในประเทศ 360 องศา ตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาสินค้าบริการ พื้นที่ สถานที่จัดงาน ผู้ประกอบการ ชุมชน และเครือข่ายในพื้นที่ รวมถึงการโปรโมตพัฒนาแคมเปญส่งเสริมการตลาดและการขาย การให้สนับสนุน รวมถึงการสื่อสารการตลาดครบวงจร

แผนงานสำคัญในการยกระดับ "อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ" ได้แก่ 

1.ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจไมซ์อย่างเป็นรูปธรรมที่วัดผลได้ (Growth Promoter) ผ่านการใช้นวัตกรรมและแพลตฟอร์มใหม่ รวมถึงการสร้างโมเดลความก้าวหน้าเพื่ออุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

2.สร้างความร่วมมือทางธุรกิจของประเทศไทยและนานาชาติ (Business Connector) ผ่านเครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อเศรษฐกิจไทยและนานาชาติ

3.การสนับสนุนบ่มเพาะธุรกิจไมซ์แบบ 360 องศา (Industry Nurturer) เพื่อสร้างอนาคตของอุตสาหกรรมไมซ์และสร้างแผนแม่บทใหม่

4.เพิ่มคุณค่าระยะยาวของเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจไมซ์ (Ecosystem Architecture) สร้างความยั่งยืนให้พื้นที่ ซึ่งจะดำเนินการผ่านกลยุทธ์ 3ส” สร้าง เสริม สนับสนุน

กลยุทธ์ “สร้าง” เครือข่ายพันธมิตรดึงงานไมซ์ระดับโลก ส่งเสริมธุรกิจไมซ์ในพื้นที่ เช่น การจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย. 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา หรือ การดึงงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี 2569 ที่จะจัดขึ้น ณ หนองแด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

กลยุทธ์ “เสริม” ความแข็งแกร่งและขยายตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ ด้วยโครงการ Empower Thailand Exhibition หรือ EMTEX เพื่อสร้างการเติบโตให้กับงานแสดงสินค้าในประเทศ ตอบโจทย์การจัดงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอดการจัดงานไมซ์ เช่น การยกระดับงาน Fruit Innovation Fair ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกษตรและผลไม้แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคตะวันออก ซึ่งงานนี้มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 3,000 ล้านบาท และงาน Agro Fex งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านอาหารและการเกษตร

กลยุทธ์ “สนับสนุน” ผลักดันงานแสดงสินค้าสู่ระดับอินเตอร์ผ่านโครงการ Exhibition-InterReady โดยสนับสนุนการยกระดับงานแสดงสินค้าให้เป็นระดับนานาชาติ ซึ่งในปีหน้าจะมีการพัฒนา 2 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food For Future)

ทั้งนี้ ทีเส็บยังมุ่งเน้นไปยังตลาดการประชุมนานาชาติ (Convention) และงานแสดงสินค้า (Exhibition) ซึ่งขณะนี้มีงานประชุมวิชาการไทยทั่วประเทศ (Domestic Convention) ได้รับการสนับสนุนจากทีเส็บจำนวน 38 งาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจถึง 380 ล้านบาท มีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 30,351 คน นอกจากนี้ งานแสดงสินค้าไทย (Domestic Exhibition) จำนวน 18 งาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจถึง 180 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าจากการเจรจาธุรกิจถึง 7,500 ล้านบาท มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 400,000 คนกระจายทั่วประเทศ

สำหรับผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศครึ่งปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565 – มี.ค.2566) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ในประเทศจำนวน 10,974,350 คน สร้างรายได้ 25,016 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าสิ้นปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565 – ก.ย.2566) จะมีนักเดินทางไมซ์ในประเทศรวม 17,790,000 คน สร้างรายได้ 59,000 ล้านบาท