กรมวิชาการเกษตร เร่ง ยกระดับ ส้มโอหอมควนลัง พืชอัตลักษณ์ประจำถิ่น

กรมวิชาการเกษตร เร่ง ยกระดับ ส้มโอหอมควนลัง พืชอัตลักษณ์ประจำถิ่น

กรมวิชาการเกษตร หวั่น “ส้มโอหอมควนลัง” สูญพันธุ์ ระดมทีมนักวิจัยศึกษาเทคโนโลยียกระดับคุณภาพการผลิต-เพิ่มพื้นที่การปลูก เพื่อยกระดับพืชอัตลักษณ์ประจำถิ่น ให้เป็นพืชเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน

นางสาวบุญณิศา   ฆังคมณี   ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา        สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 (สวพ.8)  กรมวิชาการเกษตร   กล่าวว่า    ส้มโอหอมควนลัง หรือเดิมมีชื่อเรียกว่า ส้มโอพันธุ์หอมหาดใหญ่เป็นไม้ผลพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งในอดีตมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่เมืองควนลัง จังหวัดสงขลาแต่ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นพืชที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ภายใต้ชื่อว่า ส้มโอหอมควนลัง 

 

ตามทะเบียนเลขที่ สข.60100092  ลงวันที่  29 มิถุนายน 2560 มีลักษณะประจำพันธุ์คือ เนื้อผลสีชมพูเข้มถึงแดงสด มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นส้มโอหอมติดที่ปลายลิ้น  เนื้อล่อนออกจากเปลือกแกะกินได้ง่าย แต่ไม่มีรสขมอ่อนติดอยู่เหมือนส้มโอบางชนิดและลักษณะเด่นที่สำคัญอีกประการ  คือ ความไม่มีเมล็ด ในอดีตที่ผ่านมา ส้มโอหอมควนลังมีผลผลิตปริมาณมาก และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ   โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซียที่เข้ามาท่องเที่ยวในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 

กรมวิชาการเกษตร เร่ง ยกระดับ ส้มโอหอมควนลัง พืชอัตลักษณ์ประจำถิ่น กรมวิชาการเกษตร เร่ง ยกระดับ ส้มโอหอมควนลัง พืชอัตลักษณ์ประจำถิ่น กรมวิชาการเกษตร เร่ง ยกระดับ ส้มโอหอมควนลัง พืชอัตลักษณ์ประจำถิ่น

 

           แต่ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ปลูกส้มโอหอมควนลังลดลง เนื่องจากการเสื่อมโทรมของต้น และการจัดการสวนของเกษตรกรซึ่งไม่ตรงตามหลักวิชาการ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิต คุณภาพผลผลิต รวมทั้งรายได้ลดลงมาก ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน    โดยวิธีการปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตส้มโอลงสู่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอหอมควนลัง    เพื่อยกระดับพืชอัตลักษณ์ประจำถิ่น ให้เป็นพืชเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน   

  ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว   ทีมนักวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8  กรมวิชาการเกษตร   จึงได้นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตส้มโอสู่พื้นที่เกษตรกร แล้วให้เกษตรกรลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ เทคโนโลยีที่นำมาทดสอบ ได้แก่

1) การจัดการปุ๋ย ได้ทำการเก็บตัวอย่างดินนำมาวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณธาตุอาหารในดิน และดำเนินการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

2) การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช ใช้วิธีกลมากกว่าการใช้สารเคมี  โดยวิธีการห่อผลส้มโอหอมควนลังด้วยถุงตาข่ายไนลอน เมื่อผลส้มโอหอมควนลัง อายุ 1.5 – 3 เดือน   เพื่อป้องกันการทำลายของแมลงวันทองและหนอนเจาะผล

3) การตัดแต่งกิ่ง แนะนำให้ตัดแต่งกิ่งภายใน 3-4 สัปดาห์ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอหอมควนลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ กิ่งแห้ง กิ่งหัก กิ่งกระโดยง กิ่งที่มีการทำลายของโรคและแมลง

4) การจัดการระบบน้ำ แนะนำให้ติดตั้งระบบน้ำ เพราะสามารถควบคุมการออกดอกและควบคุมคุณภาพผลผลิตของส้มโอได้

  5) การเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยการนับอายุผลหลังจากติดดอกจนถึงอายุ 6.5 ถึง 7 เดือน ส่วนวิธีการเก็บเกี่ยวใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่งตัดขั้วผล และนำผลผลิตมาวางเรียงเพื่อคัดขนาดรอจำหน่าย ส่วนต้นส้มโอมีอายุมากจะใช้ไม้สอยแบบตะขอเกี่ยวเพื่อลดเสียหาย 

จากการจัดการสวนดังกล่าวทำให้ส้มโอมีจำนวนผลเฉลี่ย 49 ผล จำนวนผลต่อต้นสูงที่สุด 62 ผล น้ำหนักต่อผลเฉลี่ย 1.4 กิโลกรัม น้ำหนักต่อผลสูงสุด 1.8 กิโลกรัม น้ำหนักผลผลิตรวมเฉลี่ย 2,152 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักผลผลิตรวมสูงที่สุด 2,778 กิโลกรัมต่อไร่ โดยมีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 9,480 บาทต่อไร่ และมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 118,834 บาทต่อไร่ โดยราคาส้มโอหอมควนลังที่เกษตรกรจำหน่าย กิโลกรัมละ 60 บาท

และจากการสอบถามการยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกรที่เข้าร่วมแปลงทดสอบ พบว่า เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีการจัดการปุ๋ย คิดเป็นร้อยละ 88.20 การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช ร้อยละ 81.3  การตัดแต่งกิ่ง ร้อยละ 90.9  การจัดการระบบน้ำ ร้อยละ 85.4 และการเก็บเกี่ยวผลผลิต ร้อยละ 89.4    จากนั้นได้นำเทคโนโลยีที่ได้จากการทดสอบในแปลงเกษตรกร  มาทำการขยายผลเทคโนโลยีโดยให้เกษตรกรเจ้าของแปลงปรับใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ในการจัดการสวนส้มโอหอมควนลัง จำนวน 20 แปลง ในตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 

“การวิจัยครั้งนี้   เราต้องการที่จะอนุรักษ์ส้มโอพันธุ์หอมควนลังไม่ให้สูญหายไปจากท้องถิ่น   รวมทั้งร่วมมือกับชาวบ้านในการช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ส้มโอพันธุ์นี้ให้ยังคงมีและสร้างชื่อเสียง  โดยขณะนี้มีหน่วยงานหลายฝ่ายได้ช่วยกันส่งเสริมทั้งการปลูกและการตลาดเพื่อให้มีคุณภาพได้มาตรฐานตามเดิมอย่างสมัยโบราณต่อไป  ”นางสาวบุญณิศา  กล่าว   

ผู้ใดที่สนใจ  สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา โทร. 0 7458 6725-30    E-mail : [email protected]