'ก้าวไกล' ดัน 4 มาตรการ แก้ปัญหา 'ปุ๋ยแพง' หนุนเกษตรกรยุคใหม่ ไร้หนี้สิน

'ก้าวไกล' ดัน 4 มาตรการ แก้ปัญหา 'ปุ๋ยแพง' หนุนเกษตรกรยุคใหม่ ไร้หนี้สิน

“ก้าวไกล” ชง 4 มาตรการ แก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพง อุ้มเกษตรกร เริ่มจากความมั่นคงที่ดินทำกิน เพิ่มสวัสดิการ เติมความรู้ด้วยเทคโนโลยี สู่การปลดล็อคหนี้สิน

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล กล่าวบนเวที THE BIG ISSUE 2023 : ปุ๋ยแพง วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร หัวข้อ "ความท้าทายของการลดปัญหาปุ๋ยแพง" ว่า ปัญหาปุ๋ยแพงเป็นปัญหาที่เกษตรกรกำลังเผชิญหน้าอยู่และหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้ว่าการเปลี่ยนไปใช้เกษตรอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยลดปัญหาต้นทุนปุ๋ยแพงได้ระดับหนึ่ง แต่ต้นทุนส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของปุ๋ยเคมี 

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ได้แกะสูตรแก้ปัญหาปุ๋ยแพงได้ 4 ส่วนคือ

1. ปัจจุบันปุ๋ยกลายเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาตร์เพราะฉะนั้นผู้ที่จัดหาปุ๋ยจึงไม่ใช่แค่ภาคเอกชน แต่รัฐบาล เช่น รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องมีบทบาทในการเข้าไปเจรจาเพื่อให้ได้ปุ๋ยเข้ามาในราคาที่เหมาะสม

2. ราคาปุ๋ยมีขึ้น-ลง จังหวะที่ราคาลงนั้นเป็นโอกาสสำคัญในการสต๊อกปุ๋ยบางส่วน เพื่อลดความผันผวนของราคา การมีกองทุนปุ๋ยเพื่อรักษาเสถียรภาพของปุ๋ยในประเทศเป็นเรื่องสำคัญ 

3. ลดภาระเกษตรกรในช่วงปุ๋ยแพงด้วยการสนับสนุนซื้อปุ๋ยสูตรเดิม 1 กระสอบ แถมปุ๋ยสั่งตัด 1 กระสอบ เพราะปุ๋ยสั่งตัดออกแบบมาได้ตรงกับค่าดินและพืชที่ปลูก ช่วยภาระของเกษตรกร ขณะที่รัฐบาลจะได้ข้อมูลค่าวิเคราะห์ดินทั่วประเทศ และ

4. เป็นการส่งเสริมปุ๋ยสั่งตัดและเก็บข้อมูลว่าต้นทุนลดลงจริงหรือไม่ประสิทธิผลดีขึ้นหรือไม่และอาจจะมีผู้ประกอบการใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ฯ กลุ่มเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายย่อย

"ปุ๋ยสั่งตัดเป็นนโยบายที่พรรคฯ คิดว่าสามารถเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับปุ๋ยอินทรีย์ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ สามารถเทียบเป็นหน่วยตามมูลค่าเดียวกันและสามารถที่จะเลือกรับปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยสั่งตัดใช้ควบคู่กับปุ๋ยเคมีเดิมได้" 

นอกจากนี้ ในเรื่องของเหมืองโปแตช น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะมีคุณค่าสำหรับประเทศแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น การปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน พรรคฯ มองว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปทำให้ทุกอย่างมีความโปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง รวมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาปุ๋ยแพงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ คาดว่าจะเกิดในอนาคตอันใกล้คือ เรื่องของแหล่งน้ำ ซึ่งหลังจากจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ พรรคฯ มีแนวทางลดต้นทุนเรื่องบริหารจัดการน้ำ โดยจะจัดสรรงบประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ในการพัฒนาพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานให้สามารถมีพื้นที่ชลประทานหรือแหล่งน้ำเพิ่ม 400 ไร่ต่อปี

ทั้งนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องมีสวัสดิการที่ดีพอ โดยจพให้น้ำหนักแบบทั่วหน้า ผู้สูงอายุต้องมีเบี้ยยังชีพเดือนละ 3 พันบาท ตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยติดเตียง 9 พันบาท รวมถึงสวัสดิการเด็กเกิดใหม่ เป็นต้น รวมถึงเร่งพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกิน เพื่อแก้หนี้ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาอาชีพเกษตรกร ส่งสินค้าไปตลาดปลายทาง ให้มีความทันสมัย พัฒนาต่อยอดได้ เริ่มจากความมั่นคงที่ดินทำกิน สวัสดิการ เติมความรู้ความสามารถ ปลดล็อคหนี้สิน