เดชรัตน์ สุขกำเนิด เริ่มต้นที่..ปฏิรูปความหวัง

เดชรัตน์ สุขกำเนิด เริ่มต้นที่..ปฏิรูปความหวัง

ทำท่าจะแผ่วลงไปสำหรับกระแส(เคย)แรง 'ปฏิรูปประเทศไทย' วันนี้ใครยังมีความหวังชวนกันมาคิดต่อ...

"ประชาชนต้องมีความหวัง แต่อย่าฝากความหวัง" น้ำเสียงเรียบๆ ของ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เอ่ยขึ้นระหว่างการพูดคุยถึงการทำงานในนามเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (Reform Now Network) ที่ดูเหมือนกำลังอยู่ในภาวะชะงักงัน

สำหรับคนที่ติดตามข่าวเรื่องการปฏิรูป สนใจประเด็นพลังงานทางเลือก และอาจจะเคยร่วมลงชื่อทวงคืนพิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานคร คงคุ้นชื่อของนักวิชาการท่านนี้ บทบาทนอกรั้วมหาวิทยาลัย อาจารย์เดชรัตน์ยังสวมหมวกอีกหลายใบ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของให้กับเกษตรกรในชนบท รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐต่างๆ หรือการเป็นครูใหญ่ 'บ้านต้นคิด' โครงการส่วนตัวที่เปิดบ้านให้เป็นจุดเรียนรู้ของครอบครัวเกี่ยวกับวิถีชีวิตชุมชน

แต่ที่กำลัง'อิน'ล่าสุดเห็นจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง'เฟซบุ๊ค' ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าตอนนี้ตั้งใจมากขึ้นที่จะใช้ช่องทางนี้สื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่วนการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูป แน่นอนยังเป็นภารกิจท้าทายในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

-อาจารย์เข้ามามีส่วนในการทำงานเรื่องการปฏิรูปตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนปี 2553-54 ผมเป็นเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป ชุดที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ผมก็อยู่ในกระบวนการที่ต้องดูแลทุกด้านต้องติดตามเรื่อง หลังจากนั้นก็มีข้อเสนอไปถึงรัฐบาลชุดคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีข้อเสนอไปถึงผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แล้วก็พรรคการเมืองต่างๆ แต่ว่าหลังจากปี 54 เป็นต้นมาก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความคืบหน้าอะไร จนเกิดกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เลยมีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูปขึ้นมาอีก แต่ว่าไม่ได้มีการลงรายละเอียดมากนัก จนมีเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปก็เลยมีการจัดพูด คุยในประเด็นย่อยๆ ลงไป ซึ่งผมไปมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าการปฏิรูปเนี่ยถ้าจะให้มันสัมฤทธิ์ผลควรจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง เราขาดอะไรไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา

-เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเป็นใครและที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

เป็นกลุ่มคนที่เคยทำงานปฏิรูปหลายๆ ด้าน นอกเหนือจากส่วนของผมคือทางด้านคณะกรรมการปฏิรูป ก็ยังมีคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปชุดที่คุณหมอประเวศเป็นประธาน แล้วก็มีกลุ่มเครือข่ายภาคองค์กรธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับเรื่องคอรัปชั่น มีคณะกรรมการอิสระเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมารวมกันเป็นเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป เมื่อต้นปีนี้เอง มีปลัดกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นผู้ประสานงาน

-เริ่มในช่วงเดียวกับที่ กปปส. ชุมนุม?

ครับ ใช่ครับ คือตอนนั้นมันมีคำถามมาว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป เสร็จแล้วก็มีการพูดถึง 2 เอา 2 ไม่เอา เครือข่ายนี้ก็เลยใช้คำว่าเดินหน้าปฏิรูป คือจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ก็ต้องเดินหน้าปฏิรูป

คือเรามุ่งหวังที่จะนำเอาประเด็นเรื่องการปฏิรูปมาเป็นประเด็นที่เกิดความเข้าใจกันในหมู่สาธารณะ และนำไปสู่การผลักดันในเชิงนโยบายจริงๆ ซึ่ง ณ ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าคำว่า “ผลักดัน” จะไปในช่องทางไหนนะครับ แต่ก็ตั้งใจใช้คำว่า Reform Now ซึ่งแปลว่าต้องทำทันที อันไหนก็แล้วแต่ แต่ในขณะนั้นเรามองว่าการได้มีโอกาสได้เข้ามาพูดคุยกับสังคมในเรื่องนี้ที่ผ่านมามันไม่มาก พอดีในช่วงเวลานั้นมีกระแสเรื่องการปฏิรูป ก็เลยคิดว่าอย่างน้อยต้องทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน ก่อนที่จะรู้ว่าช่องทางปฏิรูปจะไปในช่องทางไหน

จริงๆ ก็มีความพยายามในการเจรจาทั้งสองฝ่ายอยู่เหมือนกันว่า ณ ตอนนั้น จะมีกระบวนการแก้ไขข้อขัดแย้งช่องทางไหนบ้างที่จะเปลี่ยนผ่านจากการเลือกตั้งหรือไม่เอาเลือกตั้ง ไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ เป็นรัฐบาลเพื่อการปฏิรูป แต่ว่าสุดท้ายข้อเสนอนั้นก็ไม่ได้ถูกเลือกจากทั้งสองฝ่าย

-ในส่วนของข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปตอนนั้นได้ข้อสรุปอะไรบ้าง

ยังไม่ถึงกับได้ข้อสรุปอะไร เริ่มมีการพูดคุยแบบแตกทีละประเด็น เช่น เรื่องเกษตรจะเอาอย่างไร เรื่องการศึกษาเป็นอย่างไรกันบ้าง การกระจายอำนาจเป็นอย่างไร แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรจะเอาอย่างไร เพราะถึงแม้ว่าเราจะต้องการให้ปฏิรูปทันที แต่ก็คิดว่าความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ไปทำความเข้าใจในแต่ละเรื่องในแต่ละภาคก่อน เรียกว่าเพิ่งเริ่มๆ แล้วก็มีการรัฐประหารก่อน

-เท่าที่อาจารย์ได้ทำข้อมูลมาคิดว่าเรื่องไหนควรจะปฏิรูปเป็นลำดับแรกๆ คะ

ยากนะครับ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันหมด อยู่ที่ว่าเรามองจากมิติไหน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่ดิน หรือเรื่องเกษตร จะเรื่องไหนก่อนก็ได้ แต่จริงๆ แล้วมันเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน เศรษฐกิจก็เหมือนกัน เพราะว่าเรามีปัญหาเรื่องการเกษตร มีปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของที่ดิน ปัญหาเรื่องทางเศรษฐกิจก็เลยเกิด เรื่องการศึกษาก็ยังสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจ เพราะว่าคนกลุ่มที่รวยที่สุด 25% แรก ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยประมาณ 50-60% แต่คนที่จนที่สุด 25% สุดท้ายได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ถึง 10% เพราะฉะนั้นมันถึงสัมพันธ์กันไปหมดนะครับ ก็เลยคิดว่าคงไม่ใช่เรื่องไหนที่สำคัญที่สุด

แต่ถ้าย้อนกลับไปในชุดของท่านอานันท์ก็มองว่ามีบางประเด็นที่ถึงจะไม่ใช่สำคัญที่สุดแต่เป็นจิ๊กซอว์แรก นั่นคือการปรับโครงสร้างอำนาจให้มีการกระจายลงไปสู่แต่ละพื้นที่ ให้ชุมชนให้ท้องถิ่นให้จังหวัดปกครองตนเอง ดูแลตนเองในสิ่งที่เขาทำได้ ก็เปลี่ยนรูปแบบการกระจายงบประมาณ เพราะว่าบ้านเราจะเป็นลักษณะที่ถ้าที่ไหนเจริญจะได้งบเยอะ อย่างกรุงเทพฯ จะได้งบเยอะ เชียงใหม่ได้งบเยอะ เราก็เปลี่ยนรูปแบบให้มีการกระจายลงไปสู่พื้นที่ที่ด้อยโอกาส เพราะฉะนั้นคือไม่ใช่สำคัญที่สุด แต่ชุดคณะกรรมการปฏิรูปมองว่ามันเป็นจิ๊กซอว์แรก คือถ้าเราทำจิ๊กซอว์นี้ได้อันอื่นๆ จะเริ่มต่อได้ง่ายขึ้น

-แต่การกระจายอำนาจซึ่งก็คือการปฏิรูปทางการเมือง รวมถึงการปฏิรูปที่ดินล้วนเกี่ยวพันกับผลประโยชน์นักการเมือง ดูจะเป็นโจทย์ยากที่จะเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลปกติ?

จริงๆ เรื่องกระจายอำนาจ ยากมาก ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือไม่ใช่นักการเมือง เพราะว่าอำนาจที่เราพูดถึงมันอยู่ที่ส่วนกลาง ที่นี้ถ้าเรากระจายไปอยู่ที่จังหวัด อยู่ที่ท้องถิ่น อำนาจของรัฐส่วนกลางก็จะน้อยลง อย่างเช่นอยากทำโครงการนี้ แต่ว่าท้องถิ่นหรือจังหวัดเขาไม่อยากทำโครงการนี้ ส่วนกลางก็สามารถใช้อำนาจบังคับได้น้อยลง เพราะฉะนั้นจึงยากที่จะแก้โครงสร้างตรงนี้ ทั้งนักการเมืองและไม่ใช่นักการเมืองครับ แต่ว่าในขณะเดียวกันถ้ามันมีการต่อสู้ในแง่ความคิดจนยอมที่จะมีการกระจายอำนาจ อย่างอื่นก็น่าจะปรับตามมาง่ายขึ้น แต่ถ้าเราไปทำส่วนอื่นๆ ก่อนในขณะที่อำนาจกระจุกตัวมันก็อาจจะแก้ปัญหาไม่ได้

-อย่างเรื่องปฏิรูปการศึกษาพูดกันมานาน แล้วที่ผ่านมาก็เคยทำมาแล้วแต่ดูเหมือนจะยังไปไม่ถึงไหน?

ครับ ก็คงจะต้องมาทบทวนสิ่งที่ทำมาแล้วว่ามันเป็นเพราะอะไร แล้วเรื่องนี้มันก็เกี่ยวพันกับเรื่องอำนาจอยู่เหมือนกัน เราคุยกันว่าจะต้องลดอำนาจรัฐแล้วเพิ่มอำนาจประชาชน ในการศึกษา จริงๆ แล้ว พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติก็มีแนวทางแบบนั้นไว้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นอย่างนั้น คืออำนาจก็ยังอยู่ที่โรงเรียน อำนาจของโรงเรียนก็ยังอยู่ที่ผอ. อำนาจของการกำหนดหลักสูตรก็ยังอยู่ที่กระทรวง เพราะฉะนั้นถ้าจะปฏิรูปการศึกษาก็ต้องมาดูว่าตกลงเรื่องการศึกษามีอำนาจอะไรบ้างอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วค่อยมาคิดกันต่อว่าเราจะสามารถคลี่ปมเหล่านี้ออกได้อย่างไร ก็อาจจะช่วยให้ปัญหาของการศึกษาดีขึ้นได้

-ในกลุ่มนักวิชาการที่ทำงานร่วมกันเคยวิเคราะห์ไหมคะว่าอะไรคือปัญหารากฐานที่ทำให้สังคมไทยเหมือนย่ำอยู่ที่เดิมในหลายๆ เรื่อง

ก็มีคนวิเคราะห์กันหลากหลายต่างๆ นานานะครับ บางคนก็ว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ บางคนว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรม แต่คณะกรรมการปฏิรูปชุดคุณอานันท์มองเรื่องอำนาจเป็นปมแรก ก็คือเรื่องการกระจายอำนาจระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

-แล้วในส่วนของพลังงานที่มีการเรียกร้องกันมากว่าอยากให้ปฏิรูปตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว

คือเรื่องของพลังงานก็เป็นส่วนหนึ่งของงานคณะกรรมการปฏิรูปครับ แต่ว่าบังเอิญในช่วงของการทำเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเรื่องพลังงานถูกพูดถึงบนเวทีเยอะ โดยส่วนตัวผม ผมก็ทำเรื่องพลังงานซึ่งก็เหมือนเรื่องอื่นๆ อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง ส่วนกลางเป็นคนบอกว่าจะเอาโรงไฟฟ้าที่จุดนั้นเพื่อเอามาใช้ที่จุดนี้ ในขณะที่ข้อมูลตัวเลขไฟฟ้าแต่ละจังหวัดใช้ไฟฟ้าเท่าไร และควรจะมีโรงไฟฟ้าอะไรอย่างไร มีทางเลือกอะไร ในแต่ละจังหวัดก็ไม่เคยมีกระบวนการที่จะวางแผนกันในระดับของแต่ละจังหวัดหรือระดับของกลุ่มภาค อันนี้เป็นตัวอย่างของการรวมศูนย์ที่เป็นส่วนกลางที่เห็นได้ในชัดเจนในเรื่องพลังงาน

-นอกจากเรื่องการรวมศูนย์แล้วยังมีปัญหาอะไรที่หนักใจมากที่สุด

คือผมคิดว่าเราพึ่งอยู่กับทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งก็มีราคาแพงขึ้น แล้วในที่สุดก็จะหายากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นที่เราจะมาพัฒนาในเรื่องพลังงานหมุนเวียนนั้น เรายังให้ความสำคัญน้อย เรายังติดใจอยู่กับว่าเทคโนโลยีมีราคาแพง ทั้งที่จริงๆ แล้วการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นทำให้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนถูกลงมาเรื่อยๆ ซึ่งมันแปลว่าในอนาคตจะถูกลงมาอีก ในเมื่อเราเห็นอยู่แล้วว่าจะถูกลงมาอีก ในขณะที่พลังงานฟอสซิลนั้นจะแพงขึ้นไปอีก ทำไมเราไม่เปลี่ยนการลงทุนมาเพื่อที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน ในเมื่อทั่วโลกหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนกันมากขึ้น แล้วถ้ามาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเราก็มีโอกาสจะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี อย่างน้อยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ที่ปัจจุบันก็เป็นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ลงทุนอย่างเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าเราลงทุนจริงๆ ตลาดในอาเซียนของเรานั้นยังมีอีกมากเลยครับ

-ที่มันเปลี่ยนยากเป็นเพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่มหรือเปล่าคะ

เราดูที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจะเห็นว่าไม่มีตัวแทนประชาชน ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค มีแต่หน่วยราชการอยู่ เพราะฉะนั้นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติก็คือหนึ่งในตัวอย่างของการการกระจุกตัวของอำนาจที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป

-ถ้าอย่างนั้นอาจารย์มีข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างไร

ผมคิดว่าเราสามารถทำได้ 3 เรื่องหลักๆ นะครับ หนึ่งก็คือตัวโครงสร้างของคนที่ตัดสินใจ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สองคือโครงสร้างราคา อย่างเช่นราคาแก๊สธรรมชาติก็ดี ราคาแก๊สหุงต้ม ก็มีปัญหาราคาที่ไม่เป็นธรรม ไม่สามารถที่จะเข้าไปกำกับดูแลแก๊สธรรมชาติ ราคาแก๊สหุงต้มได้ เรามีภาคส่วนสำคัญอย่างเช่นปิโตรเคมีที่ใช้แก๊สหุงต้มในอัตราที่ถูกกว่าภาคส่วนอื่นๆ ใช้แก๊สธรรมชาติในอัตราที่ถูกกว่าใช้ไฟฟ้า ใครเป็นคนตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ เราไม่มีคนกำกับดูแล เรามีคนกำกับดูแลเฉพาะภาค ไฟฟ้าอย่างเดียว

ส่วนที่สามคือตัวเทคโนโลยี เราจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีของเรานั้นไปถึงพลังงานทางเลือก ไปถึงคนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการวางแผน อย่างการทำเรื่องแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้ารอบที่แล้ว มีการจัดการประชุมเพียงครั้งเดียว มีคนเข้าร่วม 200 กว่าคน ในนั้นเกือบ 100 คนเป็นคนของกระทรวงพลังงาน แล้วก็บอกว่านั่นเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ซึ่งข้อเสนอของผมก็คือถ้าเราสามารถทำทั้งสามอย่างนี้ได้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหา แต่ผมไม่อยากให้มีการผูกขาดว่าถ้าโรงไฟฟ้าต้องเอาแบบนั้น ถ้าแก๊สต้องเอาแบบนี้ เพราะว่าจริงๆ แล้วก็ต้องฟังความคิดของหลายๆ ฝ่าย แต่วิธีในปัจจุบันมันเป็นวิธีการฟังที่ค่อนข้างแคบไปและอาจจะเอียงประโยชน์ไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

-ในกลุ่มเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปตอนนี้ได้พูดคุยกำหนดจุดยืนต่อสถานการณ์ปัจจุบันว่าอย่างไร

อันนี้ไม่ได้คุยจริงๆ เอาเป็นว่าติดตามจากเฟซบุ๊คว่าแต่ละคนออกมาอย่างไรบ้าง ก็มีทั้งคนที่คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเอาข้อเสนอเหล่านี้เข้าไปสู่การตัดสินใจของคณะคสช. แต่บางส่วนรวมถึงตัวผมก็คิดว่าคงจะไม่เข้าร่วมกับกระบวนการที่ดำเนินการโดยคสช.หรือกลไกที่จะตามมา เช่นสภานิติบัญญัติ หรือสภาปฏิรูปครับ ความเห็นก็เลยมีเป็นสองส่วน แต่ส่วนของผมนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ร่วมมือกับส่วนแรกนะครับ เราอาจจะร่วมมือกับผู้ที่เข้าไปทำงานในนั้น เช่นเข้าไปให้ร่วมมือทางด้านวิชาการ ให้ข้อคิดเห็น อะไรอย่างนี้ครับ

-บางคนมองว่าในสถานการณ์อย่างนี้อาจเป็นโอกาสสำหรับภาคประชาชนที่จะผลักดันกฎหมายบางอย่าง เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้ว?

ในรัฐธรรมนูญปี 50 ก็มีกฎหมายเช่น พรบ.สุขภาพแห่งชาติ มีรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่ทำสำเร็จ บางคนก็เลยเพ่งเล็งโอกาสนี้อยู่ แต่ผมอยากจะตั้งประเด็นถึงโอกาสถัดไปมากกว่า เพราะว่าเรามีโอกาสนี้มาหลายรอบและก็พบว่าเราสนใจเฉพาะโอกาสนี้ก็เลยลืมว่าหลังจากนี้มันต้องมีอีกโอกาสหนึ่ง ซึ่งมันมีบริบทที่แตกต่างจากนี้อย่างสิ้นเชิง ส่วนตัวผมก็คงจะเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสถัดไปมากกว่า

-ก่อนหน้านี้เรื่องการปฏิรูปเป็นกระแสที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ลึกลงไปในเนื้อหาแล้วอาจารย์คิดว่ามีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน

ผมว่าไม่ค่อยมากครับ บางเรื่องยกตัวอย่างเช่นการปฏิรูปการศึกษา เขาอาจจะหมายถึงการมีโรงเรียนดีๆ ใกล้ๆ บ้าน แต่จริงๆ มันอาจจะมีหลายอย่างมากกว่านั้น ซึ่งก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน หรืออย่างเรื่องแรงงานเนี่ย เราอาจจะนึกถึงว่าทำอย่างไรที่จะไม่มีแรงงานนอกระบบเลย ทุกคนได้รับสวัสดิการหมดเลย เนื้อหาอย่างนี้ก็ไม่ค่อยมีการคุยกันมากนัก จะว่าไปเนื้อหาที่มีการพูดคุยมากที่สุด ก็คือเนื้อหาเรื่องพลังงานซึ่งมันไม่พอ ต้องคุยเรื่องอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างที่น่าสนใจคือเรื่องที่ดิน ถ้ามีการปฏิรูปตามแนวทางที่คิดไว้ พี่น้องที่ไปร่วมชุมนุมกับ กปปส.จำนวนมากก็อาจจะต้องเป็นผู้ที่เสียค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเราได้คุยกันแล้วคนส่วนใหญ่บอกเห็นด้วยพลังมันจะยิ่งมาก แต่เนื่องจากไม่ได้คุยก็เลยไม่รู้ว่า ตกลงเมื่อจะใช้จริงๆ พี่น้องจะเห็นด้วยหรือไม่ อันนี้เป็นโจทย์ที่เรายังตอบไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยมีโอกาสคุยกันเรื่องการปฏิรูปมากขึ้น

-ในฐานะนักวิชาการจะขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปต่อไปอย่างไร

เรื่องปฏิรูปผมคิดว่าก็คงมอบให้คนที่ใช้โอกาสนี้ ส่วนตัวผมก็จะไปตั้งคำถามให้กับประเด็นประชาธิปไตย คือถึงแม้เราจะสนับสนุนประชาธิปไตยก็ต้องไม่ปฏิเสธว่ามีคนตั้งคำ ถามเกี่ยวกับประชาธิปไตยเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นคำถามเหล่านี้เราไม่ควรมองเพียงแค่ว่าเป็นวาทกรรมของผู้ที่ไม่นิยมชมชอบประชาธิปไตย แต่วาทกรรมเหล่านี้มันมีน้ำหนักได้ต่อเมื่อมันมีความเป็นจริงอยู่อย่างน้อยในระดับหนึ่ง เราก็ต้องเอาเรื่องเหล่านี้มาขบคิดกัน ผมก็จะไปพยายามมองถึงประชาธิปไตย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง แม้กระทั่งเรื่องของการทำมาหากิน เรื่องการจัดการทรัพยากร ประชาธิปไตยจะตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องตอบคือเรื่องของการซื้อเสียงขายเสียง เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจสิ่งนี้และจำเป็นจะต้องทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด อย่างน้อยในระดับการเลือกตั้งเล็กๆ ระดับหนึ่ง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีโมเดลใหม่มี รูปธรรมใหม่ มีบทเรียนใหม่ที่สังคมไทยจะต้องรับรู้ว่าเราเปลี่ยนแปลงมันได้ และนี่ก็เป็นภารกิจของผม

-คือจะพยายามเดินหน้าสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย?

ก่อนอื่นต้องคิดทบทวนตัวเราเองก่อน ให้ความรู้ให้ความคิดแล้วก็ลงมือเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่ามันสำคัญมาก สมมุติว่าวันนี้มี อบต.สักที่หนึ่งที่เขาจะประกาศเลยว่าให้มาจับตาดูเขาได้ ที่ใครบอกว่าเลือกตั้งทุกครั้งต้องซื้อเสียงมาดูอบต.นี้เลย จากนั้นก็มี อบต. ถัดไปและก็มีถัดไป แล้วมาดูกันว่ามันไม่เป็นแบบนี้เพราะอะไรและเราจะไม่เป็นอย่างนี้ในการเลือกตั้งที่ใหญ่กว่านี้ได้หรือไม่ แต่ถ้าเราทำไม่สำเร็จมันก็แน่นอนว่าเราจะตอบคำถามของคนหมู่มากไม่ได้

สิ่งสำคัญอันหนึ่งที่ผมคิดไว้ในใจนะครับ ผมไม่แน่ใจนะครับว่ามันจะถูกไหม แต่ผมไม่อยากให้ไปบอกคสช.ว่า “อีกสองปีจะเลือกตั้ง” ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ผมอยากให้เราทำงานความคิดกันจนพวกเราเองรู้สึกว่า “ไม่ได้แล้วต้องเลือกตั้งแล้ว ฉันพร้อมแล้ว” โดยเลือกตั้งจะต้องไม่เป็นแบบเดิมแล้วเราค่อยมาว่ากัน ค่อยมาลงประชามติกันว่าตกลงแล้วประเทศไทยจะเดินในระบบไหน

-ในส่วนของการปฏิรูปมีข้อเสนออะไรที่อยากจะฝากถึงคนที่อาจจะมารับหน้าที่นี้ต่อไป

ผมคิดว่าเราอาจจะหยิบเรื่องสำคัญจำนวนไม่เยอะเรื่องขึ้นมา ลองดูว่าในเรื่องต่างๆ เหล่านั้นที่มันเป็นโจทย์ร่วมกันเราแก้ได้ไหม เช่นเรื่องปฏิรูปที่ดิน เราอาจจะหยิบขึ้นมาว่าในช่วงเวลานี้ เราจะทำอย่างไรให้คนล้านคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน มีที่ดินทำกินได้ มันมีทางเป็นไปได้ไหม ทำอย่างไรให้แรงงานนอกระบบหายไปภายในสิบปี ไม่มีแล้วแรงงานนอกระบบ มันไม่ควรจะมีใครอยู่นอกระบบสวัสดิการอีก ผมว่าเราน่าจะลองหยิบยกเข้ามา แต่เวลาเราหยิบ ส่วนใหญ่มักจะไปหยิบสิ่งที่เราจะทำ สิ่งที่เราตัดสินใจไปแล้ว เช่นจะทำโครงการ 2.2 ล้านล้าน แต่เราไม่ได้พูดว่าปัญหามันคืออะไร งั้นถ้าเกิดว่าเราลองยกเป็นประเด็นปัญหามา เช่นเกษตรกรไม่มีที่ทำกิน หรือประเด็นเรื่องแรงงานนอกระบบ อะไรอย่างนี้ เราหยิบมามันอาจจะทำให้เราคิดถึงการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แล้วสามารถดึงคนเข้ามามีส่วนในการปฏิรูปได้มากขึ้น และอีกอย่างก็อยากให้สังคมไทยมีความหวัง แต่ไม่ฝากความหวัง เรานำความหวังที่มีมาสร้างเพื่อช่วยตัวเราเอง

-โดยส่วนตัวแล้วตอนนี้อาจารย์รู้สึกผิดหวังกับสังคมไทยหรือเปล่าคะ

มีบางสิ่งที่ผมผิดหวัง แต่ว่าทุกอย่างมันตั้งอยู่บนความเป็นจริง มันไม่มีประโยชน์อะไรที่ต้องไปผิดหวัง มันมีแต่ว่าเราจะเอาความหวังของเรามาต่อกับความหวังของคนอื่นๆ ได้อย่างไร มาเชื่อมอย่างไรที่มันจะกลายเป็นความหวังของสังคมไทยจริงๆ