‘กูรู’ เตือนอย่าคิดทวงแชมป์ ‘ส่งออกข้าว’ ถ้ายังลดต้นทุนการปลูกไม่ได้

‘กูรู’ เตือนอย่าคิดทวงแชมป์ ‘ส่งออกข้าว’  ถ้ายังลดต้นทุนการปลูกไม่ได้

ไทยเป็นเคยประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญของโลกยาวนานหลายสิบปี ในอดีตไทยเป็นแชมป์ในการส่งออกข้าว และข้าวก็ถือเป็นสินค้า 1 ใน 5  ที่ไทยส่งออกมากที่สุดแต่ในปัจจุบันภาพดังกล่าวกำลังกลายเป็นอดีตอย่างสิ้นเชิง จากต้นทุนของการผลิตข้าวที่สูง และตลาดส่งออกที่เริ่มหดตัวลงมาก

อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณ และเม็ดเงินในการส่งออกข้าวจะลดลง แต่ “ข้าว” ยังถือเป็นสินค้าสำคัญในเศรษฐกิจไทยอย่างน้อย 2 ประการ คือ ข้าวเป็นความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่จะต้องมีในประเทศ และมีครัวเรือนไทยที่ยึดถืออาชีพชาวนาอยู่กว่า 4 ล้านครัวเรือน

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวถึงกว่า 10 ล้านตัน ต่อมาการส่งออกข้าวเริ่มลดลง โดยจากข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่าปริมาณการส่งออกข้าวในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยส่งออกข้าวได้ประมาณ 7.5 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกข้าวอยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท

ส่งออกข้าวไทยเสียความสามารถแข่งขัน

แต่ในปีต่อมาคือในปี 2563 เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 การส่งออกข้าวของไทยลดลงเหลือ 5.72 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือ 1.13 แสนล้านบาท ต่อมาในปี 2564 มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยกลับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 6 ล้านตันปริมาณเพิ่มขึ้น 6.7% ขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าวกลับลดลง 7.1%  โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.07 แสนล้านบาท

ส่วนปี 2565 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ 7.69 ล้านตัน ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 22.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการส่งออกสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.5 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 138,451.8 ล้านเพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 7.5 ล้านตัน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยเรื่องข้าว กล่าวว่าประเทศไทยเคยเป็นแชมป์ของการส่งออกข้าวในปี 2552 ไทยครองส่วนแบ่งในการส่งออกข้าวถึง 29.21% และค่อยๆลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2558 ส่วนแบ่งทางการตลาดในการส่งออกข้าวของไทยในตลาดโลกลดลงเหลือ 22.9% ในปี 2563 ลดลงเหลือ 12.33% และในปี 2564 ลดลงเหลือ 11.69% เท่านั้น

อินเดียครองแชมป์ตลาดข้าวโลก 

มาร์เก็ตแชร์ในตลาดข้าวของไทยที่ลดลงสวนทางกับเวียดนาม ที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอินเดียที่มีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นมากโดยในปี 2564 ข้าวอินเดียครองตลาดโลกถึง 46.95% เพิ่มจากในปี 2558 ที่มีส่วนแบ่งอยู่เพียง 7.23% เท่านั้น

การที่อินเดียสามารถชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมาจากประเทศอื่นๆได้เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ส่วนสำคัญคือเรื่องของราคาการส่งออที่อินเดียส่งออกข้าวในราคาประมาณ 5 – 6 พันบาทต่อตันเท่านั้น

ซึ่งการส่งข้าวออกในราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆก็เนื่องจากมีต้นทุนทางการผลิตที่ต่ำอยู่ที่เฉลี่ยไร่ละ 4 – 5 พันบาท เกษตรกรยังคงปลูกข้าวแบบดั้งเดิมใช้แรงงานที่มีอยู่ในประเทศมาก ขณะที่รัฐบาลให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตเรื่องของปุ๋ยอย่างเพียงพอ ขณะที่คอยเติมความรู้จากงานวิจัยให้กับเกษตรกรลงไปใช้ในนาข้าวจนทำให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีปริมาณข้าวที่จะส่งออกได้มากสามารถที่จะทำราคาแข่งขันได้

‘กูรู’ เตือนอย่าคิดทวงแชมป์ ‘ส่งออกข้าว’  ถ้ายังลดต้นทุนการปลูกไม่ได้

ต้นทุนผลิตข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง

ขณะที่ประเทศไทยราคาส่งออกข้าวของไทยต้องกำหนดไว้ที่ราคาสูงอยู่ที่ประมาณ 420 – 500 ดอลลาร์ต่อตัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวของไทยสูงอยู่ที่เฉลี่ย 7,456 บาทต่อไร่ ส่วนเวียดนามต้นทุนการปลูกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 5,600 บาทต่อไร่ ซึ่งหมายความว่าโดยต้นทุนการปลูกข้าวที่สูงและผลผลิตข้าวที่ต่ำนั้นทำให้ไทยไม่สามารถสู้คู่แข่งในการส่งออกข้าวได้

ไทยอุดหนุนการปลูกข้าวปีละกว่า 1 แสนล้าน 

นายสมพร กล่าวต่อว่าปัจจุบันไทยใช้งบประมาณในการอุดหนุนชาวนาผ่านมาตรการประกันรายได้ และมาตรการในเรื่องของการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตอยู่ประมาณ 1- 1.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยมาตรการนี้แม้จะเป็นการช่วยเหลือชาวนา แต่สิ่งที่ส่งผลในระยะยาวคือคุณภาพ และผลผลิตข้าวต่อไร่ของเราลดลง การแข่งขันของข้าวในตลาดโลกทำได้ลำบาก เพราะต้นทุนที่สูงมาก เพราะมาตรการนี้เป็นเสมือน “เบาะรอง” ให้กับชาวนาไม่ต้องพัฒนาการปลูกข้าว หรือพันธุ์ข้าวที่จะมีผลผลิตมากขึ้น หมายความว่ายิ่งอุดหนุนผลผลิต และคุณภาพข้าวของไทยลดลง โอกาสจะทวงแชมป์ส่งออกข้าวยิ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่น่าสนใจคือปริมาณการเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือนชาวนาที่มากขึ้นจาก 3 ล้าน เป็น 4 ล้านครัวเรือนในช่วงเวลาเพียง 3 ปีที่มีนโยบายประกันรายได้ สะท้อนให้เห็นว่ามีการแบ่งที่ดิน และแตกครัวเรือนเพิ่มเพื่อรับมาตรการสนับสนุนที่โดยรวมแล้วรวมๆ ปีละ 4 – 5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน

ในมุมมองของดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อถูกถามถึงนโยบายภาคเกษตรที่ควรเป็นในการเลือกตั้งที่จะถึงครั้งนี้ในส่วนเกี่ยวกับนโนยบายข้าว ดร.ทนงบอกว่าประเทศไทยต้องตั้งหลักคิดก่อนว่าเราต้องการที่จะรักษาแชมป์การส่งออกข้าวไว้หรือไม่ แล้วต้องการรักษแชมป์การส่งออกข้าวไว้เพื่ออะไร

 

หัวใจสำคัญเกษตรคือต้นทุนการผลิต 

ดร.ทนงบอกด้วยว่าหัวใจสำคัญของการทำเกษตรทุกอย่างคือเรื่องของ “ต้นทุนในการผลิต” ถามว่าในวันนี้ต้นทุนในการปลูกข้าวของไทย นั้นสู้กับประเทศคู่แข่งในการส่งออกข้าว อย่างอินเดีย และเวียดนามได้หรือไม่ ถ้าสู่ไม่ได้หมายความว่าเป้าหมายในการรักษาแชมป์ในการส่งออกก็ต้องใช้เงินในการอุดหนุนเกษตรกรเพิ่มเพื่อให้มีผลผลิตข้าวในการส่งออกเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่เราอุดหนุนเรื่องของต้นทุนการผลิตผ่านมาตรการช่วยเหลือการเก็บเกี่ยวอยู่แล้วปีละหลายหมื่นล้านบาท

ในปัจจุบันเป้าหมายในการปลูกข้าวของประเทศไทยจึงควรที่จะเน้นไปที่ความพอเพียงของการบริโภคภายในประเทศ และหาทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนของการปลูกข้าวลง มากกว่าที่จะผลักดันให้ประเทศไทยสามารถทวงแชมป์ในการส่งออกข้าวคืนมา

เพราะหากยังไม่สามารถปลูกข้าวโดยรักษาคุณภาพการเพาะปลูก ลดต้นทุนลงให้แข่งขันได้ การขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นหมายถึงงบประมาณในการอุดหนุนที่จะต้องใส่ลงไปมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ช่วยสร้างการแข่งขันให้กับภาคเกษตรของไทยได้ในระยะยาว