"กองทุนน้ำมัน" เปิดแผนปี 66 เดินหน้ากู้เงินงวด 2 อีก 1.2 แสนล้าน

"กองทุนน้ำมัน" เปิดแผนปี 66 เดินหน้ากู้เงินงวด 2 อีก 1.2 แสนล้าน

"กองทุนน้ำมัน" เผยแผนปี 66 เดินหน้ากู้เงินก้อน 2 อีก 1.2 แสนล้าน ภายหลังเงินกู้ก้อนแรก 3 หมื่นล้าน ทะยอยใช้หนี้คู่ค้า ม. 7 มั่นใจจ่ายหนี้เงินกู้ครบ 1.5 แสนล้าน ภายใน 7 ปี ล่าสุด ฐานะกองทุนยังคงติดลบ 1.2 แสนล้าน ชี้ ยังคงตรึงดีเซลที่ลิตรละ 35 บาท

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ปี 2566 สกนช. ยังเดินหน้าภารกิจหลักในการบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ คือ การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ยังมีความผันผวนจากการสู้รบในยูเครน และด้านเศรษฐกิจ

โดยแผนการกู้เงินต่อจากนี้ไปจะประสานกับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เพื่อบรรจุการกู้ยืมเงินต่อไปภายหลังจากได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ผ่านกลไกอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อจัดหาแนวทางการกู้ยืมเงิน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับแล้ว และทาง สกนช.ได้ดำเนินการกู้เงินรอบแรก 30,000 ล้านบาท ลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้วกับธนาคารกรุงไทยและธนาคาออมสิน ส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบลดลง ปัจจุบันประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 1 ม.ค. 2566 ติดลบอยู่ที่ 121,491 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สกนช.เตรียมกู้เงิน รอบที่สอง อีกไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังต้องรอ ทางบอร์ด สบน. ประชุมแผนกำหนดกรอบหนี้สาธารณะของประเทศในวันที่ 9 ม.ค.นี้ เพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาตามกระบวนการต่อไป โดยมั่นใจว่า ในปีนี้ กองทุนน้ำมันฯจะสามารถดำเนินการกู้เงินได้ตามแผน คือ แล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนสถาบันการเงินที่คาดว่า จะยื่นเสนอแผนกู้เงินฯนั้น เบื้องต้นจะยังเป็นสถานการเงินของรัฐเป็นหลัก

“สกนช. ยังมีสภาพคล่องที่จะชำระคืนหนี้ให้กับผู้ค้า ม.7 ได้ โดยยังรอความชัดเจนจาก สบน. ได้ถึง ก.พ.-มี.ค.นี้ เนื่องจากยังมีเงินกู้ก้อนแรกเหลืออยู่ และในช่วงเดือน พ.ย- ธ.ค.2565 ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง ทำให้กองทุนน้ำมันฯ เริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ถึง 8,000 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ จะมีการทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันแต่ละประเภทนั้นจะพิจารณาให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งปัจจุบัน ดีเซล เรียกเก็บ อยู่ที่ 3.72 บาทต่อลิตร และจะดูแลให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับ 1.40 บาทต่อลิตรตามนโยบายของรัฐ โดยในระยะสั้นนี้ จะยังคงนโยบายตรึงราคาขายปลีกดีเซล ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร และยังต้องติดตามนโยบายของภาครัฐ รวมถึง มาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ที่จะสิ้นสุด 22 ม.ค. 2566 ด้วย

ส่วนทิศทางราคาน้ำมันในปีนี้ คาดว่าจะไม่ร้อนแรงเท่าปีที่ผ่านมา เบื้องต้น ประเมินว่าราคาดีเซล ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และกรณีเลวร้ายสุด จะขึ้นไปแตะ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกถดถอย , การเปิดประเทศของจีน จะทำให้ยอดการใช้น้ำมันกลับขึ้นมาสูงขึ้น, มาตรการปรับกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนเป็นวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกินระยะเวลานานถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชน รวมทั้งกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยเฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 135.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 74.26%

โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตราการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการ เช่น การทยอยปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) แบบขั้นบันได จากที่ตรึงไว้ 318 บาท/ถัง 15 กก.มาอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. และการบริหารราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม จากที่ตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตรในปัจจุบัน โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีสถานะติดลบมากกว่า 130,000 ล้านบาท ขาดสภาพคล่องและมีหนี้เงินชดเชยที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงค้างชำระผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินและกรอบวงเงินกู้ตามวรรคสามในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562