สภาฯ ไฟเขียว พ.ร.ก.ให้คลังค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน

สภาฯ ไฟเขียว พ.ร.ก.ให้คลังค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน

มติสภาฯ 239:166 อนุมัติ พ.ร.ก.ให้คลังค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน "สุพัฒนพงษ์" ย้ำความจำเป็น ด้าน ​"ปชป." ท้วงวิธีแก้ปัญหารัฐบาลวิกฤตพลังงานล่าช้า แนะให้ชงสภาฯ ฟังข้อเสนอแนะแก้วิกฤต

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ด้วยเสียง 239 เสียง ไม่เห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียยง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง 

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการพิจารณาของส.ส.ก่อนลงมติเห็นชอบนั้น ส่วนใหญ่ได้ท้วงติงการดำเนินงานของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตราคาพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่เร่งรัดดำเนินการแก้ไข แต่กลับมาขออนุมัติจากสภาฯ เพื่อให้อำนาจรัฐบาลก่อนหนี้ 

 

          โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  อภิปรายว่า กรณีที่รัฐบาลขอให้ประชาชนค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งมีวงเงินถึง 1.5 แสนล้านบาท จึงต้องชี้แจงรายละเอียดว่า กู้แล้วจะนำเงินไปทำอะไร นำเงินจากไหนมาใช้หนี้ และจะใช้หนี้กี่ปี แต่ไม่พบถึงกรระบุถึงแผนการกู้ การใช้เงิน และแผนการใช้หนี้  ตนทราบว่า ไม่มีที่ไหนยอมให้กู้ เพราะสภาพคล่องมีปัญหา ดังนั้นจึงต้องเร่งเก็บเงินเข้ากองทุนจำนวนมหาศาล และจะกระทบประชาชน ที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงมากขึ้นหรือไม่  

          ทางด้าน นายพิสิษฐ์ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่รีบดำเนินมาตรการการดูแลเรื่องการเงินของกองทุนน้ำมันฯ แทนที่จะมาเสนอสภาฯ และมาใช้เหตุผลว่าเป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉินคือออก พ.ร.ก.

 

          "เหตุการณ์แบบนี้รัฐบาลประเมินได้อยู่แล้วว่ากองทุนน้ำมันจะติดลบและติดลบจำนวนมาก รัฐบาลจึงควรเสนอต่อสภา เพื่อระดมความคิด ซึ่งสิ่งที่ข้องใจมากคือโรงกลั่นและมาตรการนโยบายพลังงานของประเทศไทยที่ไม่มีการดูองค์รวมเพื่อจะให้นำไปสู่การใช้พลังงานที่เหมาะสม และไม่มีภาระทางการเงินอย่างที่เราเห็นตอนนี้ ซึ่งค่าการกลั่นสูง 2-3 % ที่จริงไม่ควรจะสูงขนาดนี้ ควรอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท เพราะโรงกลั่นทั้งหมดที่มีอยู่ 6แห่ง สร้างมานานแล้ว ค่าเสื่อมราคาน่าจะตัดไปเกือบหมดแล้วไม่ควรจะมาใช้เหตุผลแบบเดิมๆอีก จึงควรจะต้องลดค่าใช้จ่ายนี้ และกระทรวงพลังงานก็น่าจะไปดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องระบบต่างๆ 

 

          ขณะที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า ครม.มีมติเห็นชอบในร่างพ.ร.กให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ฯ และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 เหตุผลเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์น้ำมันโลกในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาเกิดจากการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีในประเด็นของกองทุนน้ำมัน มีหลักการคือ  เพิ่มเสถียรภาพกองทุนน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม  ที่ติดลบช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 

 

 

          “รัฐบาลจำเป็นต้องทำ ไม่เช่นนั้นแล้ว 1.5 แสนล้านบาท ไม่ต้องมีก็ได้ แต่ประชาชนคนไทยจะต้องรับภาระตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา หรือต้นปี 2565 ราคาน้ำมันอาจจะขึ้น 40 - 50 บาทต่อลิตรก็ได้ ถ้ากระทรวงการคลังไม่ช่วยมาสนับสนุน ราคาแอลพีจีอาจจะสูงถึง 525 บาทต่อถัง (15 กิโลกรัม) ก็ได้ แล้วประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร ส่วนที่แบงค์รัฐ ไม่ปล่อยกู้นั้น เพราะมีข้อเสนอที่มีความยุ่งยาก และยังต้องมีความจำเป็นต้องไปใช้ช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ น้ำมันยังเป็นสินค้าควบคุม จึงต้องไปถามกระทรวงพาณิชย์ ด้วย”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว