4หน่วยงานเศรษฐกิจเคาะกรอบงบฯปี 67 วงเงิน 3.35 ล้านล้าน ขาดดุลฯ 5.93 แสนล้าน

4หน่วยงานเศรษฐกิจเคาะกรอบงบฯปี 67 วงเงิน 3.35 ล้านล้าน ขาดดุลฯ 5.93 แสนล้าน

4 หน่วยงานเศรษฐกิจเคาะกรอบงบฯ ปี 67 3.35 ล้านล้านบาท  ขาดดุลฯ 5.93 แสนล้านบาท ชง ครม.สัปดาห์หน้า สศช. มองกรอบจัดทำงบฯปี 67 เหมาะสม ลดการขาดดุลงบฯหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด มองสมมุติฐานจีดีพีปี 67 โต 3.8% มีความเป็นไปได้หลังการค้าโลกฟื้นตัว

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยว่าที่ประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ วันนี้ (4 ม.ค.) ประกอบไปด้วย สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) และกระทรวงการคลัง ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 5.93 แสนล้านบาท โดยจะนำเสนอ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 ม.ค.2566 เพื่อเห็นชอบต่อไป

 

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการจัดทำกรอบงบประมาณปี 2567 ที่กรอบวงเงิน3.35 ล้านล้านบาท และลดการขาดดุลลงเหลือ 5.93 แสนล้านบาทถือว่าเหมาะสม ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากโควิด-19

โดยการตั้งสมมุติฐานการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 67 ไว้ที่ 3.8% นั้นถือว่าไม่สูงจนเกินไปเนื่องจากปริมาณการค้าโลกใน 67 จะฟื้นตัวจากปี 66 โดยจะขยายตัวได้ถึง 3.7% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ทำให้จีดีพีขยายตัวได้

ส่วนการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐและลดการขาดดุลงบประมาณลงในการจัดทำงบฯปี 67 ถือว่าส่งผลดีต่อสถานะการเงินการคลังของประเทศในระยะยาวเนื่องจากการจัดทำงบขาดดุลต่อเนื่องนั้นไม่เป็นผลดี รัฐบาลจึงมีการวางแผนลดการขาดดุลลง ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐด้วย