เคาะกรอบงบฯ 67 3.35 ล้านล้าน เพิ่มงบ  – ลดขาดดุลฯ แสนล้าน รับรัฐบาลใหม่

เคาะกรอบงบฯ 67 3.35 ล้านล้าน  เพิ่มงบ  – ลดขาดดุลฯ แสนล้าน รับรัฐบาลใหม่

ครม.ไฟเขียวกรอบ นโยบายการคลังระยะกลาง 67-70 มุ่งลด การขาดดุลงบประมาณ ให้เหลือไม่เกิน 3% ต่องบรวม  จ่อขยายกรอบเงิน 67 เป็น 3.35 ล้านล้านบาท ขาดดุลลดเหลือ 5.93 แสนล้าน ทำแผนเบิกจ่ายงบไปพลางก่อน 6 เดือน รองรับการเลือกตั้งปีหน้า 

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (27 ธ.ค.) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ซึ่งรวมถึงกรอบงบประมาณปี 2567 ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณ โดยปีงบประมาณ 2567 จะเป็นปีแรกที่เริ่มทำกรอบงบประมาณตามกรอบการคลังระยะปานกลางที่ตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณให้เหลือไม่เกิน 3% ของงบประมาณในภาพรวม เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะถัดไปได้

 

ทั้งนี้งบประมาณปี 2567 มีกรอบวงเงินงบประมาณรวม 3.35 ล้านล้านบาท  ปรับเพิ่มขึ้นมาจากงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.65 แสนล้านบาท  เป็นงบประมาณขาดดุลวงเงิน 5.93 แสนล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3% โดยมีส่วนของการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากงบประมาณปี 2566 ทั้งนี้ในปี 2567 รัฐบาลจะคงสัดส่วนงบลงทุนไว้ที่ 20% ของสัดส่วนงบประมาณในภาพรวมหรือประมาณ 7 แสนล้านบาทตามที่กฎหมายการจัดทำงบประมาณกำหนด

นายเฉลิมพลกล่าวว่ากรอบงบประมาณปี 2567 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของรัฐ และผ่านการรับทราบจาก ครม.แล้วจะเข้าสู่การหารือร่วมกันของ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง จะหารือกันเพื่อยืนยันกรอบตัวเลขนี้อีกครั้งก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 12 ม.ค. 2566 และจะเริ่มให้หน่วยงานต่างๆส่งคำขอใช้งบประมาณมายังสำนักงบประมาณในวันที่ 27 ม.ค.2566 ต่อไป

เมื่อถามว่ากรณีที่รัฐบาลอาจมีการยุบสภาในปีหน้าก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่จะกระทบการจัดทำงบประมาณปี 2567 หรือไม่นั้น ผ.อ.สำนักงบประมาณกล่าวว่าขณะนี้สำนักงบประมาณยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินงบประมาณ แต่ก็ได้เตรียมความพร้อมรองรับการจัดทำงบประมาณปี 2567

กรณีที่อาจมีความล่าช้า ซึ่งได้เตรียมร่างระเบียบการเบิกจ่ายและจัดสรรงบประมาณไปพลางก่อนสำหรับระยะเวลา 6 เดือน หากมีการล่าช้าออกไป โดยตามระเบียบของการจัดสรรงบประมาณไปพลางก่อนสามารถที่จะอนุมัติงบประมาณได้ 50% ของงบประมาณปี 2566 หรือวงเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

ส่วนงบประมาณที่เป็นโครงการลงทุนนั้นจะยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ จนกว่าจะมีขั้นตอนการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่สามารถที่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ประกวดราคาก่อนได้ และเมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณบังคับใช้แล้วสามารถที่จะอนุมัติให้ลงนามในสัญญาได้ทันที