ส่องโครสร้าง ‘งบประมาณ ปี 67’ ก้าวแรกสู่การจัดทำ ‘งบประมาณสมดุล’

ส่องโครสร้าง ‘งบประมาณ ปี 67’  ก้าวแรกสู่การจัดทำ ‘งบประมาณสมดุล’

การจัดทำงบประมาณของประเทศไทยมีลักษณะของการจัดทำ “งบประมาณแบบขาดดุล” มาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี คือรัฐบาลมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายมาโดยตลอด

จนมีคำพูดที่บอกกล่าวช่วงปลายปีงบประมาณว่า “ต้องกู้มาปิดหีบ” หมายความว่ารัฐบาลจะต้องมีการกู้ยืมเงินจากประชาชน และเอกชนโดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลมีรายรับเพิ่ม และให้ตัวเลขรายรับกับรายจ่ายของรัฐบาลสมดุลกัน สามารถปิดหีบงบประมาณในแต่ละปีได้อย่างลงตัว

ถึงแม้ว่าการตั้งงบประมาณขาดดุลแม้จะช่วยให้ภาครัฐสามารถมีวงเงินในการไปดูแล กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญวิกฤต หรืออยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากวิกฤตในแต่ละครั้ง แต่ในแง่หนึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อระบบงบประมาณของประเทศในระยะยาว

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ซึ่งรวมถึงกรอบงบประมาณปี 2567 ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณ โดยปีงบประมาณ 2567 จะเป็นปีแรกที่เริ่มทำกรอบงบประมาณตามกรอบการคลังระยะปานกลางที่ตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณให้เหลือไม่เกิน 3% ของงบประมาณในภาพรวม เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะถัดไปได้  

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่างบประมาณปี 2567 มีกรอบวงเงินงบประมาณรวม 3.35 ล้านล้านบาท  ปรับเพิ่มขึ้นมาจากงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.65 แสนล้านบาท  เป็นงบประมาณขาดดุลวงเงิน 5.93 แสนล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางกรอบการคลังระยะปานกลาง

นอกจากนี้งบประมาณปี 2567 ประกอบไปด้วยรายได้ของรัฐบาล 2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลรวม 3.357 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% หนี้สาธารณะคงค้าง 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.35% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ ครม.รับทราบเป้าหมายและนโยบายการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ว่าจะยึดหลัก "Sound Strong Sustained" โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับ สถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

สามารถรองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล และคำนึงถึงการรักษาระดับเครื่องขี้ทางการคลังให้อยู่ภายใต้ กรอบวินัยการคลัง (Fiscal Discipline) เพื่อมุ่งสู่ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับ

ความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต ดังนั้น เป้าหมายของแผนการคลัง ระยะปานกลางฉบับนี้จึงมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลเพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจะปรับลดขนาดการขาดดุลให้เหลือไม่เกิน 3% ต่อ GDP ตั้งแต่ปีงบประมาณ2567 และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงให้เป็นไป อย่างต่อเนื่อง

และในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่ายและหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำ งบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ในส่วนของสถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  (จีดีพี) จะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.3 – 4.3% (ค่ากลาง 3.8%) โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนภายในประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2567 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1 – 2% ชะลอลงจากปี 2566 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับในปี 2568 – 2570  มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 – 2569 จะขยายตัว 2.9 - 3.9%  (ค่ากลาง 3.4%) ขณะที่ในปี 2570 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.8 – 3.8%  (ค่ากลาง 3%) โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ จากอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งการบริโภคและการลงทุน และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออก

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2568  จะอยู่ในช่วง 1.2 – 2.2% และเร่งขึ้นเป็นเฉลี่ยในช่วง 1.3 – 2.3% และร้อยละ 1.4 – 2.4% ในปี 2569และ 2570 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดี ของอุปสงค์ ภายในประเทศ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะยังคงเกินดุลต่อเนื่องตามการฟื้นตัว ของการส่งออกสินค้าและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

ส่วนประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ  2567 – 2570 ข้างต้น จัดทำภายใต้สมมติฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงที่ผ่านมาและนโยบายการคลังที่จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในระยะปานกลาง โดยการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะฟื้นตัวตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รายได้ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยวหลังผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี รายได้รัฐบาลสุทธิมีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงเท่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากสมมติฐานการบริโภคในระยะปานกลางขยายตัวไม่สูงมากนัก ประกอบกับ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงและค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง นอกจากนี้ รายได้ รัฐบาลอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการปรับลดอัตราภาษี สรรพสามิตและยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับยานุยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า

ส่วนประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 – 2570  มีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น กำหนดการจ่ายคืนต้นเงินกู้ให้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5- 4%  ของวงเงินงบประมาณ เพื่อบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง และเหมาะสมกับกำลังเงินของประเทศ กำหนดให้สัดส่วนงบกลาง ร้ายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ร้อยละ 2- 3.5% ของวงเงินงบประมาณ ควบคุมค่าใช้จ่าย บุคลากรให้มีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกิน4%  โดยใช้มาตรการในการกำหนดให้หน่วยรับ งบประมาณนำเงินรายได้มาสมทบค่าใช้จ่าย เป็นต้น

จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ และประมาณการงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลจะทำให้รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณระหว่างปี 2567 – 2570 ลดลงตามลำดับ โดยในปี 2567 การขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ 5.93 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 3% ของงบประมาณทั้งหมด  

ปี 2568 การขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ 5.9 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 2.84% ของงบประมาณทั้งหมด  

ปี 2569 การขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ 6.15 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 2.81% ของงบประมาณทั้งหมด  และปี 2570 การขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ 6.41 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 2.79% ของงบประมาณทั้งหมด  

ทั้งนี้เป้าหมายการจัดทำงบประมาณสมดุลของรัฐบาลถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเพราะต้องทำทั้งในส่วนของการหารายได้เพิ่ม และลดรายจ่ายภาครัฐควบคู่กันไปด้วยจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างแท้จริง