‘ความยากจนหลายมิติ’ ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

‘ความยากจนหลายมิติ’  ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

“ปัญความยากจน” เป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา เห็นได้จากที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ขึ้นมาแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ

ในภาพรวมของเศรษฐกิจของไทยมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด -19 เห็นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 ที่จะขยายตัวได้ประมาณ 3.2% ตามการคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขณะที่ในปี 2566 เศรษฐกิจก็ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนที่ฟื้นตัว

เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวนั้นส่งผลต่อผลกำไร และรายได้ของแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน บางธุรกิจและบางอุตสาหกรรมมีรายได้และผลกำไรเพิ่มขึ้นชัดเจน ขณะที่บางธุรกิจยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวดีขึ้นทำให้ “คนจน” ลดลงจากช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลของ สศช.ระบุว่า ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนลดลงจาก 4.7 ล้านคนในปี 2563 เหลือ 4.4 ล้านคนในปี 2564 นอกจากการปรับตัวของรายได้ที่ดีขึ้น ยังมาจากมาตรการของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องด้วย

แนวโน้มการลดลงของคนจนในประเทศไทยตามนิยามดังกล่าวเป็นการวัดในแง่ของรายได้ ซึ่งวัดจาก “เส้นความยากจน” คือหากมีรายได้เกินกว่า 2,803 บาทต่อเดือนในปี 2564 จะไม่ได้นับเป็นผู้ยากจนตามนิยาม อย่างไรก็ตามมีการวัดอีกแบบหนึ่งที่สามารถบอกได้ว่าคนในประเทศยากจนหรือไม่ คือวัดในมิติอื่นๆที่มากกว่ารายได้ ได้แก่ การวัดในมิติของการศึกษา การใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และวัดในเรื่องของความมั่นคงทางการเงิน ทำให้เกิดตัวชี้วัดความยากจนที่เรียกว่า “ความยากจนหลายมิติ” หรือ “Multidimensional Poverty Index

ที่น่าสนใจก็คือตัวเลข ที่ สศช.มีการทำสำรวจออกมาเมื่อมีการวัดความยากจนหลายมิติ ทำให้ตัวเลขคนจนในไทยเพิ่มขึ้นจาก 4.4 ล้านคน เป็น 8.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

ที่สำคัญก็คือความยากจนหลายมิติมีปัญหาที่รุนแรงกว่าความยากจนด้านตัวเงินมาก โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติในส่วนของความเป็นอยู่ที่วัดจาก การกำจัดขยะ การใช้อินเตอร์เน็ต และการเข้าถึงการแพทย์ ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติมากที่สุดโดยมีสัดส่วนถึง 34.8% รองลงมาเป็นความมั่นคงทางการเงิน 28.9% อันดับสามคือการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ 20.1% และสุดท้ายคือเรื่องของการศึกษาที่ 16.2%

เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางประชากรคนจนหลายมิติของไทย 1 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุคือมีจำนวนมากถึง 36.9% ของคนจนหลายมิติทั้งหมด และคนจนหลายมิติเกินครึ่งคือ 51.5% ของคนจนหลายมิติทั้งหมดไม่ได้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ โดยเพิ่มจาก 29.3% ในปี 2565 เป็น 51.5% ในปี 2564 สะท้อนว่าคนจนหลายมิติในสังคมนั้นมีโอกาสในการหารายได้ต่ำ และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนได้ในอนาคต

ตัวเลขและข้อมูลในเรื่องคนจนหลายมิติของ สศช.เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลต้องหันมาให้ความสำคัญว่าการแก้ปัญหาความยากจน ไม่สามารถทำได้แค่เพียงการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการ หรือโครงการช่วยเหลือระยะสั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ เช่น เรื่องการศึกษา การออม และการสร้างความมั่นคงในชีวิตในเรื่องอื่นๆเช่น ที่อยู่อาศัย และสุขภาพของคนในประเทศควบคู่กันด้วย