ความจนมันน่ากลัว! “คนรุ่นใหม่” ในเกาหลีใต้ ก่ออาชญากรรมเพราะความหิว

ความจนมันน่ากลัว! “คนรุ่นใหม่” ในเกาหลีใต้ ก่ออาชญากรรมเพราะความหิว

ความยากลำบากทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิต "คนรุ่นใหม่" ชาว "เกาหลีใต้" ทั้งในแง่ค่าครองทางชีพ การสร้างครอบครัว และอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงจนถึงขีดสุดเป็นประวัติการณ์

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เกาหลีใต้ มีข่าวจับกุมวัยรุ่นที่ขโมยอาหารจากร้านอาหารหลายคดีด้วยกัน ซึ่งทุกรายรับสารภาพว่าทำไปเพราะ ความหิว ไม่มีเงินซื้ออาหาร คนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้บางส่วนกำลังเผชิญหน้ากับความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในตลาดงาน

 

  • “ความยากจน” ภัยคุกคามคนรุ่นใหม่

จากข้อมูลของในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 10 ของผู้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ยังชีพพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตจากรัฐบาล เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี คิดเป็นจำนวนกว่า 245,000 คน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และสูงขึ้นถึงสองเท่าของจำนวนผู้ที่มีอายุ 20-30 ปี ที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ เมื่อทศวรรษที่แล้ว

สอดคล้องกับรายงานของ Seoul Institute กลุ่มคลังสมองแห่งกรุงโซล ที่เผยแพร่ในเดือนส.ค.ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่คนรุ่นใหม่สามารถใช้ชีวิตได้ยากลำบากอย่างมาก โดยในปี 2543 เศรษฐกิจเกาหลีขยายตัว 9.1% ส่วนอัตราการว่างงานในประชากรกลุ่มอายุ 18-39 ปีมีเพียง 7.5% ผ่านมา 20 ปี คือ ในปี 2563 การเติบโตทางเศรษฐกิจลดเหลือ 2.1% และอัตราการว่างงานในประชากรกลุ่มดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10.1%

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าว ได้รวบรวมข้อมูลจากธนาคารแห่งชาติเกาหลี สำนักสถิติแห่งชาติเกาหลี และ สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี  ยังพบว่าปัจจัยความคิดที่เป็นผลบวกต่อการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่นั้นลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ความคิดที่ว่าตัวเองมีสุขภาพดี หรือ สามารถจะเปลี่ยนระดับชนชั้นทางสังคมได้ อีกทั้งยังมีความกังวลว่าคนรุ่นใหม่นี้จะกลายเป็น “คนเจนล็อกดาวน์” (Lockdown Generation) ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เติบโตมาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พลาดโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหางานซึ่งเป็นแหล่งรายได้ในการใช้ชีวิต

“รายได้หลักของคนรุ่นใหม่คือเข้าทำงานในตลาดแรงงาน แต่โควิด-19 ทำให้พวกเขาสูญเสียโอกาสในการเข้าสู่ตลาดงาน และหากเข้าไปได้ก็จะพบว่า จำนวนงานในตลาดนั้นลดลงไปอย่างมาก” รายงานกล่าวสรุป

ขณะที่ เหล่าผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า การใช้จำนวนรายได้เป็นตัวชี้วัดระดับความยากจน อาจจะนำมาใช้ไม่ได้กับการประเมินฐานะของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากพวกเขาไม่มีการถือครองทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ และมีหนี้สิน รวมถึงมีความมั่งคั่งสุทธิในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ระดับความยากจน หรือ มีรายได้สูงกว่า 50% ของรายได้เฉลี่ยทั่วประเทศก็ตาม

จากการสำรวจของสถาบันนโยบายเยาวชนแห่งชาติ ที่ทำการสอบถามความเห็นของชาวเกาหลีอายุ 19-34 ปีจำนวน 4,114 คนทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่า เกือบ 43% ของผู้ที่มีอายุ 19-34 ปี รู้สึกว่าตนเองยากจน และ 34.3% ของคนที่คิดว่าตนเองยากจน คิดว่าพวกเขาคงจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความยากจนไปได้ ขณะที่รายได้ของผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 41% นั้นน้อยกว่า 20 ล้านวอน (ประมาณ 534,000 บาท) ต่อปี และอีกประมาณ 32% มีรายได้ต่อปีระหว่าง 20-40 ล้านวอน (ประมาณ 534,000-1,069,794 บาท)

  • แรงกระเพื่อมจาก “ความจน” 

การศึกษาโดยสถาบันโซลพบว่าคนหนุ่มสาวที่ทุกข์ทรมานจากความยากจนทางการเงินมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหา “สุขภาพจิต

ตามรายงานของบริการประเมินและตรวจสอบประกันสุขภาพ แสดงให้เห็นว่าจำนวนคนอายุน้อยเกาหลีใต้ที่ป่วยในกลุ่มโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวัยรุ่นที่มีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึง 90.2% ขณะที่กลุ่มอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 127.1% ส่วนกลุ่มที่มีอายุ 30-39 ปี เพิ่มขึ้น 67.3%

นักวิจัยเปิดเผยว่าการเผชิญหน้ากับความยากจนตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในช่วงวัยต่อไปด้วย “การประสบความลำบากทางเศรษฐกิจตั้งแต่วัยเริ่มทำงานมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการสร้างครอบครัวในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การให้อิสระแก่ลูก รวมไปถึงการสะสมสินทรัพย์"

วัยหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อขั้นตอนในการสร้างครอบครัว เช่น ความเป็นอิสระ (จากพ่อแม่) และยังส่งผลเสียต่อการสร้างสินทรัพย์ เห็นได้จากปัจจุบันที่คนเกาหลีไม่นิยมแต่งงานเนื่องด้วยข้อจำกัดทางการเงิน 

สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจทุกสองปีของสำนักสถิติเกาหลี ที่สำรวจชาวเกาหลี 36,000 คนที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป โดยเผยแพร่เมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า 35.4% ของผู้ชายระบุว่าสาเหตุที่ยังไม่แต่งงานเพราะว่าไม่มีเงิน ส่วนผู้หญิง 22% ระบุว่าเช่นเดียวกันว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่แต่งงาน แต่ที่สนใจคือผู้หญิง 23.3% ระบุว่า ไม่รู้สึกจำเป็นที่จะต้องแต่งงาน

ชายชาวเกาหลีวัย 35 ปีคนหนึ่งเปิดเผยว่า แม้ในปัจจุบันสังคมไม่ได้คาดหวังให้ผู้ชายต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ยังมีความคาดหวังมากมายจากฝั่งครอบครัวผู้หญิง เขายอมรับว่ามีความคิดที่จะแต่งงาน เพียงแต่ไม่ใช่ตอนนี้ที่เขายังไม่พร้อม

 

  • ความยากจนทำให้คนไม่มีลูก

นอกจาก เงินจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่คิดที่จะแต่งงานแล้ว ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีลูก เว็บไซต์หางาน Job Korea ได้ทำการสำรวจเหล่าคนโสด พบว่า กว่า 46.2% ไม่คิดที่จะมีลูก โดย 48.8% ให้เหตุผลว่า พวกเขา “ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน”

ความไม่พร้อมในการสร้างครอบครัวนี้ ส่งผลต่ออัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในเกาหลีใต้ สำนักงานสถิติเกาหลี ประกาศว่าอัตราการเกิดในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ประเทศเริ่มบันทึกในปี 2524

ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นจำนวนเด็กโดยเฉลี่ยที่จะเกิดต่อผู้หญิงหนึ่งคน ของเกาหลีใต้ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.77 ลดลงจากปีที่แล้วที่ระดับ 0.81 อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ครอบครัวในเมืองแทจอน จะไม่มีลูก

ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดซ้ำไปซ้ำมาเป็น “วงจรอุบาทว์” เริ่มต้นจากคนหนุ่มสาวปัญหาทางการเงิน ทำให้พวกเขาไม่อยากสร้างครอบครัว ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์และจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

ผู้เชี่ยวชาญจาก Seoul Institute เรียกร้องให้มีนโยบายป้องกันและช่วยเหลือปัญหาความยากจนในคนรุ่นใหม่ โดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล เช่น คนที่อยู่ร่วมกับพ่อแม่ พร้อมทั้งมีนโยบายที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละช่วงวัย เพราะคนในช่วงอายุ 20-29 ปี นั้นแตกต่างจาก คนอายุ 30-39 ปี 

ในปรกติแล้วเมื่อนึกถึงสภาพความยากจน คนทั่วไปมักจะมองถึงกลุ่มคนชายขอบ ผู้ด้อยโอกาส หรือคนชราที่ต้องพึ่งพาเบี้ยเลี้ยงชีพ ซึ่งมักจะมองข้ามกลุ่มแรงงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ และคนพึ่งจบใหม่ เพราะความคิดที่มองว่า เดี๋ยวก็หางานใหม่ที่ดีกว่า แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเป็นไปอยากขึ้น คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีงานทำกลายเป็นคนยากจนโดยไม่ได้ทันตั้งตัว และแน่นอนว่าคุณภาพชีวิตย่ำแย่ที่พวกเขาจะต้องเผชิญในช่วงก่อร่างสร้างตัวนั้น จะส่งผลเสียส่งต่อไปยังรุ่นต่อ ๆ ไป


ที่มา: Korea Herald