ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีใครพูดถึง | บัณฑิต นิจถาวร

ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีใครพูดถึง | บัณฑิต นิจถาวร

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเรา ล่าสุด ธนาคารโลกรายงานว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมลํ้ามากสุดในเอเชียตะวันออก ขณะที่ความยากจนในประเทศเพิ่มขึ้นพร้อมการขยายตัวของเศรษฐกิจ

สวนทางกับทิศทางในอดีตและในประเทศอื่นๆ ชี้ว่าวิธีการบริหารเศรษฐกิจในบ้านเราช่วงสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้ทําให้ประเทศพัฒนาดีขึ้น ตรงกันข้าม ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่กลับไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง เป็นปัญหาซีเรียสที่จําเป็นต้องแก้ไข นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ในเอกสารวิจัย 74 หน้าของธนาคารโลกเรื่อง "วินิจฉัยรายได้ภาคชนบทประเทศไทย" (Thailand Rural Income Diagnostic) เผยแพร่เดือนตุลาคมปีนี้ ผลวิเคราะห์ชี้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่หรือ Gini Coefficient ปี2019 อยู่ที่ 43.3 ขณะที่อัตราความยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2016 2018 2020 เป็นร้อยละ 6.8 ในปี 2020 หลังจากที่ได้ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 58 ของประชากรในปี 1990

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำ รายได้ภาคเกษตรและภาคธุรกิจที่ซบเซา และการระบาดของโควิด-19

การเพิ่มขึ้นของความยากจนขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว เป็นปรากฏการณ์ที่สวนทางกับความเป็นจริงทั่วโลกที่ความยากจนจะลดลงเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราจึงค่อนข้างพิเศษ

ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีใครพูดถึง | บัณฑิต นิจถาวร

ชี้ว่าวิธีการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลและการทํางานของระบบราชการในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นอกจากจะทําให้เศรษฐกิจขยายตัวตํ่าและคนรวยยิ่งรวยมากขึ้นแล้ว ยังทำให้คนที่ไม่รวยกลายเป็นคนจนมากขึ้นด้วย นี่คือความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมลํ้าที่ประเทศมี

เอกสารธนาคารโลก (worldbank.org)ให้ข้อมูลว่า การลดลงของความยากจนในประเทศเราที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1990 เริ่มแผ่วตั้งแต่ปี 2015 อัตราความยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2016 2018 และปี 2020

และประมาณร้อยละ 79 ของคนที่ยากจนอาศัยอยู่ในชนบท ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีรายได้หลักจากภาคเกษตร กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ และที่มากสุดคือภาคใต้และภาคอีสาน

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจนลําบาก แม้ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนร้อยละ 15-20 ของการส่งออกของประเทศ เพราะรายได้เกษตรกร (farming) ได้ลดลงต่อเนื่องจากปัญหาผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรที่ตํ่า ทําให้รายได้ภาคเกษตรโตช้า กระทบความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก เพราะกว่าหนึ่งในสามของกําลังแรงงานของประเทศมีรายได้หลักจากภาคเกษตร นี่คือต้นตอของปัญหา

ในทางเศรษฐศาสตร์ ความเหลื่อมลํ้าเกิดจากความสามารถในการหารายได้ที่ไม่เท่ากันระหว่างคนสองกลุ่ม คือคนมีกับคนไม่มี คนมีหรือคนรวยมีจํานวนน้อยกว่าแต่มีอัตราการเพิ่มของรายได้สูงกว่าคนไม่มี ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่มีอัตราการเพิ่มของรายได้ตํ่ากว่ามาก เมื่อความแตกต่างในการหารายได้มีต่อเนื่อง การกระจายรายได้ของประเทศก็แย่ลงต่อเนื่อง

ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีใครพูดถึง | บัณฑิต นิจถาวร

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจก็มีกลไกในตัวเองผ่านนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมลํ้าพรัอมการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น ระบบภาษีในอัตราก้าวหน้า การแข่งขัน ระบบเศรษฐกิจเสรี การศึกษา โอกาสในการมีงานทํา การเข้าถึงสินเชื่อ การเก็บออมและลงทุน และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง

สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างโอกาสให้คนที่ไม่มีสามารถมีโอกาสที่จะเพิ่มความสามารถในการหารายได้ ขยับตนเองไปสู่คนชั้นกลาง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกว้างขวางก็จะทําให้ความสามารถในการหารายได้ของคนส่วนใหญ่ของประเทศดีขึ้น ทําให้ความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมีจะลดลง

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราที่ความเหลื่อมลํ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วงสิบปีที่ผ่านมา

เหตุก็เพราะกลไกในระบบเศรษฐกิจที่จะช่วยลดความเหลื่อมลํ้าไม่ทํางาน หรือทํางานในทิศทางตรงข้าม หรือไม่มี ทําให้การกระจายรายได้ในประเทศยิ่งแย่ลงพร้อมการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ซึ่งถ้าดูจากนโยบายที่ภาครัฐทําในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ก็ชัดเจนว่ามีนโยบายจํานวนมากที่ไม่ได้ช่วยให้ความเหลื่อมลํ้าลดลง แต่กลับทําให้ความเหลื่อมลํ้าเพิ่มมากขึ้น เช่น

ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีใครพูดถึง | บัณฑิต นิจถาวร

1.นโยบายรัฐบาล เช่น การเลื่อนหรือผ่อนผันไม่นํามาตรการภาษีที่ดินมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ การเน้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้ประโยชน์จากสัมปทานรัฐ การผ่อนปรนให้ต่างชาติสามารถซื้อที่ดินหรือเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศซึ่งไม่เคยทำมาก่อน และผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เช่นเดียวกัน การให้สัมปทานบริษัทเอกชนทําธุรกิจหรือหาประโยชน์ในพื้นที่ ทรัพย์สิน และที่ดินของราชการ เช่น กรณีสถานีรถไฟหัวลำโพง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการทํานโยบายที่ให้ประโยชน์กับคนส่วนน้อย คือบริษัทเอกชนคู่สัญญาที่ได้สัมปทาน ขณะที่ความเสียหายและหรือการเสียโอกาสตกอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

2.การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจที่มีน้อยลงจากนโยบายรัฐ ที่ยอมให้ธุรกิจขนาดใหญ่ควบรวมกิจการเพื่อลดการแข่งขัน เช่น ธุรกิจค้าปลีก และโทรคมนาคม ทําให้มีผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการน้อยราย และเสี่ยงต่อการมีอำนาจเหนือตลาดที่อาจนําไปสู่การผูกขาด เป็นทิศทางนโยบายที่สวนทางกับการแข่งขัน และการเปิดให้คนในประเทศมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

3.การทุจริตคอร์รัปชันที่ข้อมูลจากองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ชี้ว่า ปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐไทยรุนแรงมากขึ้นช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผลคือเจ้าหน้าที่รัฐ คือนักการเมืองและข้าราชการประจํา และนักธุรกิจที่อยู่ในกระบวนการคอร์รัปชันได้ประโยชน์ ชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมายของประเทศ

ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีใครพูดถึง | บัณฑิต นิจถาวร

ที่สำคัญเนื่องจากคอร์รัปชันในภาครัฐไม่ใช่เรื่องที่คนตัวเล็ก คนจน หรือประชาชนทั่วไปจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้

คอร์รัปชันในภาครัฐเป็นเรื่องของคนมีตังค์มีตําแหน่งคือเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนในภาคธุรกิจ ที่หาประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ ทําให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น

สำหรับความยากจน ชัดเจนจากเอกสารธนาคารโลกว่า ต้นเหตุหลักอยู่ในภาคชนบทที่ผลิตภาพหรือความสามารถในการผลิตของภาคเกษตรที่เป็นฐานรายได้หลักของกําลังแรงงานกว่าหนึ่งในสามของประเทศนั้นตํ่าเกินไป ตํ่าจนคนในชนบทไม่สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีได้

นโยบายรัฐต้องมุ่งไปที่การยกระดับความสามารถในการผลิตและการหารายได้ของประชาชนในชนบทให้สูงขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่ออกมาชัดจากการศึกษาของธนาคารโลก คือ วิธีการทํานโยบายและการใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมาไม่ได้พัฒนาประเทศให้ดีขึ้น ไม่ได้แก้ปัญหาที่ควรแก้ แต่ยิ่งทําให้สถานการณ์เศรษฐกิจด้านการกระจายและความยากจนเลวร้ายลง เป็นสิ่งที่ควรต้องรับฟังอย่างยิ่ง.

ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีใครพูดถึง | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]