สกพอ.วางโมเดลสถานีมักกะสัน เพิ่มพื้นที่สีเขียว 7.8 หมื่นตารางเมตร

สกพอ.วางโมเดลสถานีมักกะสัน เพิ่มพื้นที่สีเขียว 7.8 หมื่นตารางเมตร

สกพอ. เปิดเวทีฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่รอบมักกะสัน เดินหน้าพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในโครงการรถไฟเชื่อมสามสนามบิน วางโมเดลปั้น “ปอดใจกลางกรุงเทพ” เพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ และพื้นที่สาธารณะไม่น้อยกว่า 78,000 ตารางเมตร

นายวรวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ “(ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงมักกะสัน) พ.ศ. ....” เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 150 คน

“ตามที่รัฐบาลได้เร่งรัดผลักดันการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบโครงการรถไฟ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสในการสร้างรายได้และกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ภาคตะวันออก โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้นำร่องในการศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในโครงการรถไฟเชื่อมสามสนามบินใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่รอบสถานีมักกะสัน และสถานีศรีราชา”

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีมักกะสันนั้น จะดำเนินการพัฒนาในพื้นที่ 140 ไร่ ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ในฐานะ Global Gateway และศูนย์กลางของ EEC เพื่อเป็นประตูสู่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการเดินทาง โดยมีแนวคิดในการจัดทำแผนผัง เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสังคมและประชาชน

โดยแนวความคิดของการพัฒนา จะต้องสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน (Mix-used) ตามหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่ง หรือ TOD สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน (Smart City) กำหนดมาตรฐานการใช้ประโยชน์ที่ดิน และกำหนดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและที่ว่างสาธารณะ และบริหารจัดการสาธารณูปโภคอย่างยั่งยืนของประเทศ เพื่อรองรับการลงทุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจนานาชาติ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 20 ล้านล้านบาท และเป็นแหล่งงานมากกว่า 70,000 ตำแหน่ง ตลอดระยะเวลา 50 ปี

นายวรวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า สถานีมักกะสันจะเป็นโครงการต้นแบบพัฒนาโครงการ Mix-used ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เป็นปอดใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยภายในโครงการพัฒนารอบสถานีมักกะสันนี้ ยังจะมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพในย่านศูนย์กลางสำหรับประชาชนทั่วไป และผู้มีรายได้น้อย ไม่น้อยกว่า 10,000 หน่วย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ และพื้นที่สาธารณะไม่น้อยกว่า 78,000 ตารางเมตร การเพิ่มต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 4,000 ต้น ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจน 1,040 ตันต่อปี และดูดซับคาร์บอน 192 ตันต่อปี

สกพอ.วางโมเดลสถานีมักกะสัน เพิ่มพื้นที่สีเขียว 7.8 หมื่นตารางเมตร

ขณะเดียวกันการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีมักกะสันจะมีการวางแผนผังและข้อกำหนดเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อการเดินทางที่คล่องตัว ฉับไว ไปพร้อมกับการวางระบบการจัดการป้องกันน้ำท่วม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในโครงการ กักเก็บและหมุนเวียนน้ำใช้ในโครงการไม่น้อยกว่า 19,000 ลบ.ม. ลดภาระระบบระบายน้ำพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สกพอ.ได้จัดทำ “(ร่าง) แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงมักกะสัน) พ.ศ. ….” เพื่อให้เป็นมาตรการทางผังเมืองในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ จะนำไปใช้ประกอบในการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงมักกะสันต่อไป

สกพอ.วางโมเดลสถานีมักกะสัน เพิ่มพื้นที่สีเขียว 7.8 หมื่นตารางเมตร