ธปท.คาดจีดีพีไตรมาส 3 โต 3% ‘ท่องเที่ยว-บริโภค’ ฟื้นตัวเด่น

“แบงก์ชาติ" ประเมินเศรษฐกิจไทยโตตามคาด ลุ้นไตรมาส 3 ขยายตัว 3% หลังท่องเที่ยว-การบริโภคเริ่มฟื้น มั่นใจโลกชะลอกระทบไทยน้อย ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าไม่กระทบเสถียรภาพ

   นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Bloomberg Business Summit ช่วง Fireside Chat on Monetary Policy ว่า ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งในสัปดาห์หน้าทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2565 เชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสดังกล่าวน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตโดยหลักยังมาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมาก โดยไตรมาส 3 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวราว 7-8 ล้านคน เทียบกับไตรมาส 2 ที่มีเพียงราวๆ 2 ล้านคนเท่านั้น 
“เรายังมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ราว 3.3% และยังไม่เห็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสะดุดลง”
อย่างไรก็ตาม ในด้านการดำเนินนโยบายการเงินของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ทาง กนง. ยังคงทยอยลดการผ่อนคลายลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพยายามจะไม่เซอร์ไพรส์ตลาด และยืนยันว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ขึ้นช้า เพราะ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับในช่วงก่อนโควิดด้วยซ้ำ หากเทียบกับประเทศอื่นที่การขึ้นดอกเบี้ยเกิดขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว 
ส่วนปัจจัยที่แตกต่างไปจากเดิมเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งล่าสุด คือ เรื่องเศรษฐกิจโลก ที่เริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะยุโรป แต่เชื่อว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมีไม่มาก เพราะแรงส่งของเศรษฐกิจไทย มาจากการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกมากนัก
ส่วนภาพเงินเฟ้อเดือนต.ค. ที่เริ่มลดลงต่ำกว่าระดับ 6% ถือว่าเป็นไปตามที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังอยู่ระดับสูง และคาดจะเห็นจุดสูงสุดได้ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า
“เราไม่ได้เบาใจ ที่เงินเฟ้อต่ำลงมา แต่อย่างน้อยก็ไม่มีอะไรที่ผิดคาดมาก จนทำให้เราต้องทบทวนแนวนโบบายการเงินทุกอย่าง และไม่ได้เบาใจ เพราะเงินเฟ้อก็ยังสูง"
เงินบาทแข็งค่าไม่กระทบต่อเสถียรภาพ
ส่วนค่างเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เชื่อว่ายังไม่เป็นระดับที่กระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมมากนัก เพราะการเคลื่อนไหวของค่าเงินไม่ได้มีการกระตุก หรือเคลื่อนไหวที่รวดเร็วมากนัก อีกทั้งการแข็งค่าของค่าเงินบาท มาจากเงินดอลลาร์เป็นหลัก ที่อ่อนค่ารวดเร็ว และสร้างผลกระทบต่อตลาด
อีกทั้งยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่เกี่ยวกับเงินทุนไหลเข้าไหลออก ทั้งนี้ที่ผ่านมา การเข้ามาลงทุนของต่างชาติ มีทั้งการเข้ามาลงทุนระยะสั้น และระยะยาว ทั้งในหุ้นและบอนด์ ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นต่างชาติ ต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาท ยังอ่อนค่าที่ระดับ 7%
“เราจับตาค่าเงินบาทตลอด ไม่ได้เบาใจ และนักลงทุนเริ่มคุ้นชินกับความผันผวนของค่าเงิน ที่ผันผวนมากขึ้น ดังนั้นการประกันความเสี่ยงเป็นวินัยที่ดีที่ควรทำ เราก็ สนับสนุนให้ทำ ไม่เฉพาะช่วงนี้ แต่ต้องทุกช่วง