ส่องแผน ‘RePower EU’ ยุโรปรับมือวิกฤติพลังงาน

ส่องแผน ‘RePower EU’ ยุโรปรับมือวิกฤติพลังงาน

“กระทรวงต่างประเทศ” มองราคาพลังงานโลกยังมีความผันผวน ปัจจัยสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ยังคงลากยาว ยุโรปใช้วิธี “ลดนำเข้า-ประหยัดพลังงาน” แนะคนไทยร่วมมือประหยัดพลังงานสอดคล้องทิศทางโลก

นางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวบนเวทีเสวนาหาทางออก ฝ่าวิกฤติ “พลังงานโลก” ทางรอด “พลังงานไทย” จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันนี้ 27 ตุลาคม 2565 ว่า ความขัดแย้งของรัสเซีย และยูเครน ที่เกินเวลายาวนานมากว่า 8 เดือน และน่าจะยังยืดเยื้อต่อไปอีกนั้น ทำให้เกิดวิกฤติพลังงานไปทั่วโลก ส่งผลทำให้อุปทานลดลง และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับสูง และกระทบภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากรัสเซีย ถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก และส่งออกก๊าซธรรมชาติ อันดับ 1 ของโลก ซึ่งสหภาพยุโรป (อียู) จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เพราะพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากยุโรปในส่วนส่วนสูงมาก โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 40% น้ำมัน 27% และถ่านหิน 46% คิดเป็นมูลค่า 3,714 ล้านบาท ส่งผลให้ยุโรปต้องออกกฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

“ในเรื่องของพลังงานถือเป็นเรื่องสำคัญมากของยุโรป โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว อียูจึงต้องออกกฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบให้กับประชาชน และลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียให้ได้ โดยตั้งเป้าหมายลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้ได้ 2 ใน 3 ภายในปีนี้”

นางสาวสมฤดี กล่าวว่า ยุโรปได้ปรับแผน RePower EU โดยการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้ได้ 2 ใน 3 ภายในปีนี้ โดยล่าสุดเหลือการนำเข้าเพียง 20% แล้ว พร้อมกับลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในปี 2573 ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และหาพลังงานอื่นทดแทน พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในยุโรปให้ได้ 45% ในปี 2573 รวมถึงแสวงแหล่งพลังงานจากที่อื่น และเพิ่มการสำรองก๊าซธรรมชาติให้ได้ 80% ที่ล่าสุดสามารถสำรองเพิ่มได้มากกว่า 85% แล้ว

ส่องแผน ‘RePower EU’ ยุโรปรับมือวิกฤติพลังงาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น เช่น ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กำหนดเพดานราคา และจัดเก็บเงินกองทุน รวมถึงลดการใช้ไฟฟ้าโดยสมัครใจ 10% และประหยัดพลังงานในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

สำหรับการแก้ปัญหาและรับมือผลกระทบให้กับประชาชนเกี่ยวกับวิกฤติราคาพลังงานไทยนั้น จะคล้ายๆ กับของอียู แต่โดยส่วนตัวแล้วต้องการให้คนไทยคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน ในเรื่องของการใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจังมากกว่านี้ ส่วนการที่รัฐบาลช่วยเรื่องาคาพลังงานถือเป็นสิ่งที่ดี แต่อยากให้ภาครัฐพิจารณาในเรื่องของราคาที่จะช่วยเหลือให้เหมาะสมกว่านี้ เพราะการให้ประชาชนยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้า หรือน้ำมันในราคาต่ำเกินไป ด้วยการใช้กลไกโดยเงินอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ประชาชนเองก็อาจไม่ได้ตระหนักถึงการประหยัดอย่างจริงจัง เพราะยังรู้สึกว่ายังสามารถจ่ายค่าพลังงานในราคานี้ได้

“นอกจากนี้ ภาครัฐอาจหาพันธมิตรประเทศต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงาน และดึงคนไทยมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และประหยัดอย่างจริงจัง เพราะไม่ว่ารัฐจะหามาตรการช่วยเหลืออย่างไร แต่หากคนไทยไม่ตระหนักถึงการประหยัด หรือใช้อย่างรู้คุณค่าอย่างจริงจัง รัฐบาลช่วยเหลือเท่าไรก็ไม่เพียงพอ”