ทำไม “สหรัฐ-อียู” ลงนามบังคับใช้มาตรการปกป้องโอนข้อมูล Privacy Shield 2.0

ทำไม “สหรัฐ-อียู” ลงนามบังคับใช้มาตรการปกป้องโอนข้อมูล Privacy Shield 2.0

ทำเนียบขาวประกาศว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐได้ลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี เพื่อบังคับใช้กรอบการทำงานรูปแบบใหม่ “Privacy Shield 2.0” โดยมีเป้าหมายที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่แบ่งปันร่วมกันระหว่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า กรอบการทำงานใหม่นี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่สำคัญด้านการปกป้องข้อมูลทั่วภูมิภาคแอตแลนติก นับตั้งแต่ที่ศาลยุติธรรมยุโรปยกเลิกกรอบการทำงานเดิมในปี 2563 หลังศาลพบว่า สหรัฐมีความสามารถในการสอดส่องข้อมูลของยุโรปที่ถ่ายโอนผ่านระบบก่อนหน้านี้มากเกินไป

นายเจมส์ ซัลลิแวน ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ณ เวลานั้น ได้ระบุในจดหมายเปิดผนึกสั้นๆ ภายหลังการตัดสินใจไว้ว่า คดี “Schrems II” ได้สร้างความไม่มั่นคงใหญ่หลวงต่อความสามารถของบริษัทต่างๆ ในการถ่ายโอนข้อมูล ส่วนบุคคลจากสหภาพยุโรป (EU) ไปยังสหรัฐ ซึ่งผลลัพธ์ของคดีดังกล่าวได้ทำให้บริษัทในสหรัฐต้องใช้ “กลไกการถ่ายโอนข้อมูลที่ได้รับการอนุมัติจากสหภาพยุโรป” ที่แตกต่างกันในแต่ละกรณี ทำให้การทำธุรกิจเกิดความซับซ้อนมากขึ้น

กรอบการทำงาน Privacy Shield 2.0 จะให้แนวทางใหม่เพื่อผ่อนคลายความกังวลของยุโรปที่มีต่อความเป็นไปได้ในการสอดส่องข้อมูลจากหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐ กรอบการทำงานใหม่นี้จะช่วยให้บุคคลในสหภาพยุโรปสามารถยื่นขอการชดใช้ผ่านทางศาลตรวจสอบการคุ้มครองข้อมูลอิสระ (DPRC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกนอกรัฐบาลสหรัฐ และหน่วยงานดังกล่าว “จะมีอำนาจเต็มที่” ในการตัดสินข้อเรียกร้อง และออกมาตรการแก้ไขตามความจำเป็น 

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์