กูรูชี้ “สหรัฐ-อียู-อังกฤษ”เศรษฐกิจถดถอยชัดเจน ฉุดส่งออกไทย

กูรูชี้ “สหรัฐ-อียู-อังกฤษ”เศรษฐกิจถดถอยชัดเจน ฉุดส่งออกไทย

“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ส่งออกไทยเดือน ก.ย. ขยายตัว 7.8% สูงกว่าคาด จากปัญหาเซมิคอนดักส์เตอร์คลี่คลายทำส่งออกรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น ชี้ "สหรัฐ-อียู-อังกฤษ”มีสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยชัดเจน ห่วงส่งออก 3 เดือนสุดท้ายปีนี้และปีหน้าโตชะลอลง

กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 9 เดือน แรกของปี 2565 โดยการส่งออกเดือน ก.ย.2565 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 24,919.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.8% ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 การนำเข้าเดือนก.ย. มีมูลค่า 25,772.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.6% ขาดดุลการค้า 853.2 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) ส่งออกมีมูลค่า 221,366.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.6% นำเข้ามูลค่า 236,351.0 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20.7% ทำให้ 9 เดือนแรก ปี 2565 ไทยขาดดุลการค้า 14,984.9 ล้านดอลลาร์

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขส่งออกเดือน ก.ย.ที่ขยายตัว 7.8% ถือว่าสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งตลาดคาดไว้เพียง 4-5% โดยสาเหตุมาจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้การส่งออกรถจักรยานยนต์และรถยนต์

รวมทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์สามารถกลับมาผลิตได้ประกอบกับการอ่อนค่าของค่าเงินบาททำให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น

ส่วนการนำเข้าชะลอตัว สาเหตุจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง และดุลการค้าขาดดุลลดลง ถือว่าเดือน ก.ย.เป็นตัวเลขที่ดี

สำหรับแนวโน้มระยะข้างหน้า นายเชาว์ มองว่า ยังต้องระวังเพราะสัญญาณเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปและอังกฤษ ขยับเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและชี้ไปในทางถดถอยชัดเจนขึ้น

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจหลักของโลกเปราะบางมากขึ้น และยังต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเหล่านี้ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นนับว่าเป็นปัจจัยท้าทาย ภาคส่งออกของไทย ใน 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ส่งออกไทยปีนี้ขยายตัว 7-8% และปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวลดลงเหลือ 2-3%

นายเชาว์ กล่าวต่อว่า ตัวเลขการขาดดุลการค้ามีแนวโน้มว่าจะลดลงชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ ทำให้ทั้งปียอดขาดดุลแตะ 16,800 ล้านดอลลาร์ และยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในปีหน้าด้วย ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสลดลง แม้ปัจจุบันยังทรงตัวระดับสูง

ลุ้นปีหน้าบัญชีเดินสะพัดพลิกเกินดุล

ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัด นายเชาว์ มองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้เริ่มมีแนวโน้มลดลง และปีหน้ามีโอกาสพลิกกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อย จากการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นกลับมา ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาระดับ 10 ล้านคน และมีโอกาสเพิ่มเป็น 20 ล้านคนในปีหน้า

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงจีดีพีไทยปีนี้ขยายตัวที่ 2.8% และปีหน้าขยายตัวเกิน 3% (กรอบ 3.3%-4%) ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติจะมีการฟื้นตัวกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb analytics) กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย.ถือว่าสูงกว่าที่คาดไว้ที่ 5-6% แต่แนวโน้มในช่วงที่เหลือปีนี้ยังมีทิศทางชะลอตัวลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า คาดว่าส่งออกปีนี้ขยายตัวเกิน 5%

ขณะที่ตัวเลขดุลการค้าค่อนข้างทรงตัว ไม่ได้ขาดดุลมากจากเดือนก่อนหน้า แต่ที่น่ากังวล คือ หากส่งออกชะลอตัวลงต่อเนื่องและถ้านำเข้ายังขยายตัว เป็นตัวเลขสองหลักเช่นนี้ มีโอกาสทำให้ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นได้  แม้ว่าตัวเลขการนำเข้า ขยายตัว 15% ในเดือนก.ย. จะเป็นตัวเลขน้อยกว่าที่คาดไว้ระดับ20% ก็ตาม 

แต่มีปัจจัยบวกจากดุลบริการขาดดุลมาต่อเนื่อง จากช่วงโควิด เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากค่าขนส่งถ่วงดุลการบริการ ตอนนี้ปรับตัวดีขึ้นพอสมควรแล้ว และการท่องเที่ยวปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้น่าจะถึง 10 ล้านคน  น่าจะช่วงถ่วงดุลบัญชีเดินสะพัดในสิ้นปีนี้ ขาดดุล -1.5% ของจีดีพี ซึ่งเป็นการขาดดุลน้อยลงระจากขาดดุลค่อนข้างมากช่วงต้นปี    

 "เราคงต้องพิจารณาดุลการค้าควบคู่กับดุลการบริการด้วย เราประเมินว่า ถ้าในปีหน้า นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาได้แตะ 15ล้านคน ซึ่งไม่ว่าราคาน้ำมันปรับขึ้นต่อเนื่องแต่ไม่เกินระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ภาระการนำเข้าสูงต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้าจะไม่ติดลบ และหากมากกว่า 15 ล้านคน ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยิ่งเกินดุล น่าจะเริ่มเห็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดชัดเจนขึ้นในไตรมาส2 ปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้ายังเป็นทิศทางฟื้นตัวต่อจากปีนี้คาดจีดีพีขยายตัวที่ 2.8%"