'สุพัฒนพงษ์' เร่ง 2 โครงการโลจิสติกส์ 3 แสนล้าน ตั้งเป้าลดคอร์สเหลือ 11%

'สุพัฒนพงษ์' เร่ง 2 โครงการโลจิสติกส์ 3 แสนล้าน ตั้งเป้าลดคอร์สเหลือ 11%

“สุพัฒนพงษ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมกบส.เร่ง 2 โครงการระบบราง ไฮสปีดเทรนด์ไทย - จีน ระยะที่2 โคราช - หนองคาย และทางคู่ขอนแก่น – หนองคาย 3.3 แสนล้าน เตรียมชงเข้า ครม. พร้อมเห็นชอบแผนพัฒนาขนส่งตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ จาก 13.8% เหลือ 11% ณ สิ้นสุดแผนพัฒนาฉบับที่13

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมว่าที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่มีการศึกษาโครงการแล้วมีความพร้อมในการลงทุน 2 โครงการที่สำคัญวงเงินรวมกว่า 3.3 แสนล้านบาท

ประกอบไปด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทาง ขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินรวม 2.97 หมื่นล้านบาท โดยทั้งสองโครงการดังกล่าวกระทรวงคมนาคมเตรียมพร้อมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้

     ทั้งนี้ในโครงการรถไฟไฮสปีดไทย- จีน เฟส 2 กระทรวงคมนาคมได้รายงานว่าได้มีการหารือกับรัฐบาลของ สปป.ลาวในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อที่จะรองรับขบวนรถไฟไฮสปีดโดยเฉพาะ เพื่อใช้แทนสะพานข้ามแม่น้ำโขงเดิมที่ใช้ทั้งรถปกติและรถไฟ โดยรูปแบบการลงทุนของสะพานแห่งใหม่นี้จะมีการหารือในรูปแบบการร่วมทุกกันอีกครั้งในทั้ง 3 ประเทศคือ สปป.ลาว จีน และไทยว่าจะลงทุนในรูปแบบใดถึงมีความเหมาะสม

นอกจากนั้นที่ประชุม กบส.ยังเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 - 2570 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาค เชื่อมโยงการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาระบบโลจิสติกส์สู่การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากระดับ 13.8% ในปัจจุบันให้ลดลงเหลือ 11% ก่อนสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในปี 2570

“ในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 13.8%  ต่อจีดีพีลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 14% ต่อจีดีพีหรือมีมูลค่าประมาณ 2,238.8 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1.8% ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศจากการผ่อนคลายมาตรการด้านโควิด-19 และแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัว สำหรับปี 2565 ต้นทุนโลจิสติกส์ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 12.9-13.3 ต่อจีดีพี”

ทั้งนี้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 ประกอบด้วย 5 แนวทางการพัฒนา ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 2.การยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าโซ่อุปทาน

3. การพัฒนาพิธีการศุลกากร กระบวนการนำเข้า-ส่งออกที่เกี่ยวข้อง และการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ 4. การพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และ 5.การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการติดตามผลด้านโลจิสติกส์ และได้กำหนดเป้าหมายในการลดสัดส่วนต้นทุนการขนส่งสินค้าและต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังต่อจีดีพีและเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ด้านพิธีการศุลกากรและด้านสมรรถนะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและธุรกิจ นอกจากนี้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ยังเห็นชอบการทบทวนมติ ครม.เพื่อมอบหมายให้กรมศุลกากรเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการและพัฒนาระบบ NSW และกำหนดขอบเขตหน้าที่ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและพัฒนาระบบ NSW

รวมทั้งรับทราบสถานะการพัฒนาธุรกรรมการให้บริการ นำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ New Single Window (NSW) ที่ปรับลดธุรกรรมจาก 480 กระบวนงาน คงเหลือ 473 กระบวนงาน เนื่องจากกระบวนงานของกรมวิชาการเกษตรไม่ได้เป็นกระบวนงานที่ใช้ในการประกอบพิธีศุลกากรราย Shipment และปัจจุบันมีธุรกรรมที่ให้บริการผ่านระบบ NSW แล้ว 444 กระบวนงาน คิดเป็น 93.67% รวมทั้งปรับลดจำนวนหน่วยงานที่ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ NSW จาก 37 หน่วยงาน คงเหลือ 34 หน่วยงาน เนื่องจากมี 3 หน่วยงานที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ Flight Permit Online System (FPOS) สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลการบินตามมาตรฐาน ICAO แล้ว