สตาร์ทอัพ'ฟินเทค-โลจิสติก'ระดมทุนสูงสุดอาเซียนปี64

สตาร์ทอัพ'ฟินเทค-โลจิสติก'ระดมทุนสูงสุดอาเซียนปี64

สตาร์ทอัพ'ฟินเทค-โลจิสติก'ระดมทุนสูงสุดอาเซียนปี64 โดยสามารถระดมทุนได้มากเป็นประวัติการณ์ที่ 25,700 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้กว่าสองเท่าตัว

 เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย นำเสนอรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพปีที่แล้ว โดยระบุว่า ปีที่แล้วถือเป็นปีทองของเหล่าสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถระดมทุนได้มากเป็นประวัติการณ์ที่ 25,700 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้กว่าสองเท่าตัว

อานิสงส์จากการที่่บรรดานักลงทุนทั่วโลก ที่ถือครองเงินสดจำนวนมากพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดอาเซียนที่มีศักยภาพการเติบโตท่ามกลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเพราะการระบาดของโรคโควิด-19

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่า ทั้งกองทุนเพื่อการลงทุนเอกชนและบริษัทที่เป็นธุรกิจร่วมลงทุนระยะยาว ต่างแสวงหาโอกาสการลงทุนที่จะช่วยให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว และภูมิภาคอาเซียนก็มีสภาพเหมือนขุมทองที่ทำให้ฝันของนักลงทุนเหล่านี้เป็นจริง รวมถึงในปีนี้ด้วย      

รายงานทบทวนการทำข้อตกลงในอาเซียนที่รวบรวมโดย“ดีลสตรีทเอเชีย” แพลตฟอร์มข้อมูลสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ ระบุว่า เมื่อปี 2564 สตาร์ทอัพในภูมิภาคระดมทุนได้ 25,700 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.7 เท่าของมูลค่า 9,400 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 และมากกว่าปี 2561 ที่มีมูลค่าการทำข้อตกลงทะยานมากถึงประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์
 

“การระดมทุนที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดและการเป็นธุรกิจใหม่ของตลาดเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของบรรดานักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อตลาดอาเซียน ทั้งในแง่ของการเป็นตลาดเกิดใหม่สำหรับธุรกิจและการเป็น”ฮับ“ทั่วโลกสำหรับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี”บทวิเคราะห์ของดีลสตรีทเอเชีย ระบุ 

ระบบนิเวศสตาร์ทอัพเริ่มขยายตัวในช่วงต้นปี 2553 ตามหลังจีนประมาณ5-10 ปีในช่วงเดียวกับที่สมาร์ทโฟนเข้ามาเจาะตลาดอาเซียน จนกระทั่งก่อนหน้าการระบาดของโรคโควิด-19 เพียงเล็กน้อย กองทุนส่วนใหญ่ก็ไปรวมอยู่ในกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียงที่สุดเพียงไม่กี่กลุ่ม รวมถึง แกร็บ สตาร์ทอัพสิงคโปร์ ที่ปรับเปลี่ยนจากธุรกิจให้บริการเรียกรถมาเป็นซูเปอร์แอพ และโกเจ็ก คู่แข่งในอินโดนีเซียและในตอนนั้น นักลงทุนที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาคคือซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ที่ทุ่มเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เข้ามาในแกร๊บและโทโกพีเดีย แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของอินโดนีเซีย

บริษัทที่ระดมทุนได้มากในปี 2564 มี“โกทู” กลุ่มบริษัทเทคที่เกิดขึ้นจากการผนวกกิจการระหว่างโกเจ็กและโทโกพีเดียของอินโดนีเซีย ระดมทุนได้ 1,600 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งเงินที่โกเจ็กระดมได้ก่อนผนวกกิจการกัน ทำให้เป็นบริษัทที่ระดมทุนได้มากที่สุดอันดับสองของภูมิภาค 

นอกจากนี้ แกร็บ ยังระดมทุนได้ 675 ล้านดอลลาร์ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นบริษัทรายใหญ่สุดอันดับสี่    

หากแยกเป็นรายเซคเตอร์แล้ว สตาร์ทอัพฟินเทค ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ระดมทุนได้มากที่สุดในปีที่แล้ว โดยระดมทุนได้โดยรวม 5,830 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น4 เท่าจาก 1,460 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 กระตุ้นให้เกิดการชำระเงินแบบไร้เงินสด และหนุนให้เกิดการบริการทางการเงินออนไลน์รูปแบบอื่นๆ

เช่นกรณีบริษัทมินท์ของฟิลิปปินส์ หรือที่รู้จักกันในชื่อกระเป๋าเงินเคลื่อนที่ GCash ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยแอนท์ กรุ๊ป ระดมทุนได้ 475 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 จากบรรดานักลงทุนระดับโลก รวมถึงวาร์เบิร์ก พินคัส กองทุนเพื่อการลงทุนหุ้นนอกตลาด สัญชาติอเมริกัน

รายงานของดีลสตรีทเอเชีย ระบุว่า อันดับสองคือ สตาร์ทอัพด้านโลจิสติก ที่ระดมทุนได้ประมาณ 5,560 ดอลลาร์ในปี 2564 เพราะได้ปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็วเพราะความต้องการส่งพัสดุเพิ่มขึ้นมาก  

โดยกองทุนในอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรสส์ ของอินโดนีเซียที่ระดมทุนได้ประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์ ส่วนนินจา แวนของสิงคโปร์ ระดมทุนได้ 579 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นบริษัทระดมทุนได้มากที่สุดอันดับเจ็ดในภูมิภาคในปีดังกล่าว

การระดมทุนที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับมูลค่าทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยทั้งสี่บริษัทคือมินท์ โมโม เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรสส์ และนินจา แวนมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว 1,000 ล้านดอลลาร์ได้เข้าร่วมกลุ่มบริษัทยูนิคอร์นที่กำลังเติบโตของภูมิภาค

ข้อมูลของดีลสตรีทเอเชีย ระบุว่า สตาร์ทอัพ 25 แห่งจาก 6 ประเทศอาเซียนก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทยูนิคอร์นในปี 2564 โดยทั้งหมดมีมูลค่าทางการโดยรวมอยู่ที่ 55,400 ล้านดอลลาร์และส่วนใหญ่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในอินโดนีเซียและสิงคโปร์