เอกชน”ชี้ปัจจัยท้าทายปี66 พลังงานแพง-กำลังซื้อหดตัว

เอกชน”ชี้ปัจจัยท้าทายปี66 พลังงานแพง-กำลังซื้อหดตัว

ส.อ.ท.ชี้ ไทยต้องพลิกเกม ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ ชู 3 แนวทางพลิกเกม หอการค้า ชี้ปัจจัยท้าทายปี 66 “พลังงานงาน-กำลังซื้อหด” ขอรัฐบาลชุดใหม่มีเสถียรภาพ “ดาว เคมิคอล” ชูธุรกิจปรับตัวสู่โลกใหม่ แนะธุรกิจวางแผนระยะยาวรับทุกสถานการณ์

กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2023” เพื่อนำเสนอทิศทางเศรษฐกิจปี 2565 โดยมีภาคธุรกิจร่วมฉายภาพปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะต่อไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2023 รอดหรือร่วง” ว่า เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส.อ.ท.ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะดิจิทัลทรานฟอร์ม ซึ่งหลายอุตสาหกรรมถูกดิสรัปชั่น 

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญปัญหา Perfect Storm หรือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้ต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย รวมทั้งเมื่อมีปัญหาเงินเฟ้อและราคาพลังงานสูงจากสงครามรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับขึ้นเฉลี่ย 5% เงินบาทอ่อนค่า ที่แม้ดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการนำเข้า 

นอกจากนี้ ขณะนี้สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมมอง คือ การเปลี่ยนเกมที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อน First Industries แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 

1.อุตสาหกรรมเดิม ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ เป็นอุตสาหกรรมดั่งเดิมที่กำลังถูกดิสรัปชั่น ขณะนี้กำลังปรับตัวให้เข้มแข็ง แม้ไม่ได้หมายความว่าจะรอดก็ตาม 

2.Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยการเปลี่ยนเกมประเทศไทยผ่านภาคอุตสาหกรรมที่เน้น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมใหม่ (นิวเอสเคิร์ป) รวมถึงบีซีจี อาศัยความหลากหลายทางชีวิตภาพที่นำวัตถุดิบมาต่อยอด และความยั่งยืน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
เอกชน”ชี้ปัจจัยท้าทายปี66 พลังงานแพง-กำลังซื้อหดตัว

แนะดันนโยบายเศรษฐกิจต่อเนื่อง

“ภาคเอกชนและภาครัฐต้องจับมือกัน และต้องพลิกเกม โดยเกมนี้ถ้าพลิกได้จะเป็นของประเทศไทย จะรอดหรือรุ่ง แต่ไทยต้องรอดเพราะที่ผ่านมาเรารอดตลอด ส่วนจะรุ่งหรือไม่รุ่งอยู่ที่พวกเรา โดยปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมและทำอย่างจริงจัง ซึ่งเราจะกลายเป็นผู้นำด้าน Green Economy" นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับสิ่งที่ต้องการเห็นจากรัฐบาลใหม่ คือความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำต่อ และไม่ควรเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่ โดยภาครัฐและเอกชนต้องจับมือกันทำงาน รวมทั้งควรปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ซึ่งไทยมีกฎหมาย 1,400 ฉบับ และมีอนุบัญญัติกว่าแสนฉบับที่มัดมือมัดเท้านักธุรกิจ และต้องทำอย่างไรให้ปลดล็อคหรืออำนวยความสะดวกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่และถ้าปลดล็อคได้เร็วจะทำให้ประเทศไปรุ่ง

“หอการค้า”ชี้ปัจจัยท้าทายปี66

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทย เพราะมีปัญหาทั้งซัพพลายเชน พลังงานแพง สินค้าแพง อำนาจซื้อลดลง ขณะที่ยุโรปมีปัญหาด้านพลังงาน สหรัฐแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีแนวโน้มขึ้นอีก ส่วนจีนที่เป็นตัวแปรสำคัญได้ใช้นโยบายซีโร่โควิด-19 

“ได้หารือกับทูตจีนพบว่า คนจีนฉีดวัคซีนแล้ว 92% เหลือ 8% ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ทำให้นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ประกาศใช้นโยบายซีโร่โควิดต่อ โดยวันที่ 16 ต.ค.นี้ ที่จะประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ และหากปี 2566 หากเศรษฐกิจจีนจะโตต้องมีมาตรการ อาทิ แก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งไทยจะได้รับอานิสงส์การเติบโตร่วมด้วย”
เอกชน”ชี้ปัจจัยท้าทายปี66 พลังงานแพง-กำลังซื้อหดตัว

 

 

สำหรับการส่งออกไทยปีนี้จะขายตัว 6-8 % โดยช่วง 7 เดือน แรกของปีนี้ การส่งออกขยายตัว 11% ส่วนปี 2566 คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวเพียง 2-3% แต่ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นและเป็นดาวเด่นในปีหน้า โดยปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 9 ล้านคน แต่ปีหน้าจะมี 20 ล้านคน ซึ่งไม่รวมจีนที่คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน และจะทำรายได้ 1.73 ล้านล้านบาท

หนุนการเมืองมีเสถียรภาพ

“ปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคในปลายปี หอฯการค้าขอเชิญชวนให้เป็นเจ้าภาพที่ดี ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเอปคเป็นโชว์เคสที่ดีมาก เพราะเป็นจะเป็นตัวทำให้อีอีซี ซึ่งเฟสแรกจบไปแล้วเรากำลังเริ่มเฟส 2 ซึ่งเวทีเอเปคจะทำให้อีอีซีเฟส 2 เกิดขึ้นได้

สำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในปีหน้านั้นหอการค้าไทยมองว่า เสถียรภาพทางการเมืองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกัน โดยเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อเจอปัญหา รัฐบาลก็ช่วยปลดล็อคเปิดประตู

“เหมือนกรณีไทยมีปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีนจากมาตรการซีโรโควิด ภาครัฐและเอกชนก็จับมือแก้ปัญหาได้สำเร็จส่งผลให้ส่งออกผลไม้ได้ หรือในกรณีประเทศซาอุฯที่ไทยฟื้นความสัมพันธ์ก็เปิดโอกาสให้เอกชนไทยเปิดการค้าการลงทุนกับซาอุได้ นอกจากนี้หอการค้าเห็นว่า รัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง การอำนวยความสะดวกการค้าในเรื่องของเอกสารให้เป็นออนไลน์”
 

เอกชน”ชี้ปัจจัยท้าทายปี66 พลังงานแพง-กำลังซื้อหดตัว

“ดาว”ชูธุรกิจปรับตัวสู่โลกใหม่

นายจอน เพนไรซ์ ประธานบริษัทดาว ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวในหัวข้อ "New World Order : New Strategy กลยุทธ์รับกติกาโลกใหม่” ว่า ความผันผวนและความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครคาดการณ์ถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่ตามมา ตั้งแต่การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในปี 2020 ที่ล็อกดาวน์ทั่วโลก จากนั้นปี 2021 อากาศหนาวเย็นรุนแรงทำให้ต้องสั่งปิดโรงงานผลิตเคมีคอลในสหรัฐ และปีนี้สงครามที่ปะทุขึ้นในยูเครนทำให้เกิดวิกฤติพลังงาน

“สิ่งที่สำคัญกว่าการคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคต คือการรู้ว่าเราจะทำอะไรและอุตสาหกรรมควรทำอย่างไรจึงจะสามารถเตรียมพร้อมรับกับทุกสถานการณ์”

ทั้งนี้ บริษัท ดาว เคมิคอล ได้ดำเนินตามกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง 4 ด้าน ได้แก่ 1.ยึดความต้องการผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยการใช้ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นตัวชี้วัดผลงาน 2.มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว ภายใต้เป้าหมายการเป็นซัพพลายเออร์ที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย โดยจัดการห่วงโซ่การผลิตที่เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง

3.การมีวินัยทางการเงิน โดยให้ความสำคัญกับสภาพคล่องธุรกิจและสมดุลปริมาณหนี้ 4.สร้างความหลากหลายให้พอร์ตการลงทุน ทั้งในด้านตลาดผู้ใช้งานและภูมิศาสตร์

สำหรับปี 2023 วิกฤติความผันผวนที่บริษัทต้องเตรียมรับมือ ประกอบด้วย ราคาพลังงานทั้งน้ำมันและแก๊สในยุโรปที่อยู่ระดับสูงและส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งยังชะลอการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน นอกจากนี้ยังมีสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ และการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์

เร่งดันแผนธุรกิจยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน บริษัทมองโอกาสในปี 2023 ที่จะมีส่วนในการกำหนดทิศทางการวางแผนกลยุทธ์ แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1.การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หลังจากการระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้น ได้เปลี่ยนแนวคิดภาคอุตสาหกรรมไปสิ้นเชิง ซึ่งทำให้การพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานเพียงแห่งเดียวกลายเป็นความเสี่ยง และเกิดเทรนด์การย้ายฐานผลิตจากจีนเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นโอกาสของอาเซียนและอินเดีย รวมทั้งการย้ายโรงงานบางส่วนกลับไปสหรัฐและยุโรป แม้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ลดความเสี่ยง 

2.การดำเนินกลยุทธ์ ESG เป็นแผนการลดความเสี่ยงระยะยาว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบรุนแรงขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องลดปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนำไปสู่การลงทุนและพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งระหว่างรัฐและเอกชน

ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ด้วยการพัฒนาและวิจัยวัสดุอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง พลาสติกหมุนเวียนในแพคเกจจิ้ง 

3.การครองใจพนักงานและดึงดูดคนเก่งๆ โดยการทำความเข้าใจเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไป อาทิ การทำงานจากที่ไหนก็ได้