ถอดบทเรียนอินโดฯ “อุดหนุนน้ำมัน” อย่างไร สุดท้ายปล่อยขึ้นรวดเดียว 30% !?

ถอดบทเรียนอินโดฯ “อุดหนุนน้ำมัน” อย่างไร สุดท้ายปล่อยขึ้นรวดเดียว 30% !?

ถอดบทเรียนมาตรการ “อุดหนุนน้ำมัน” ของอินโดนีเซีย จัดการผิดพลาดอย่างไร จนสุดท้ายต้องปล่อยขึ้นรวดเดียว 30% จุดชนวนความไม่พอใจในหมู่ประชาชนจนเกิดการประท้วงรุนแรงในหลายเมือง

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ใช้งบประมาณอุดหนุนน้ำมันให้ราคาถูกมายาวนาน จนอั้นไม่ไหวอีกต่อไป ประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วิโดโด แถลงว่า รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ และนี่เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล

ขณะที่ ศรีมุลยานี อินดราวาตี รมว.กระทรวงการคลัง เสริมอีกว่า ถ้ายังคงอุดหนุนน้ำมันต่อ งบประมาณทั้งปีต้องกลืนเลือดไปอีก 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 470,000 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอินโดฯ จึงต้องปล่อยราคาน้ำมันแพงขึ้น 30% ทันที สร้างความไม่พอใจจากประชาชนจำนวนมากและเกิดการประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ

ถอดบทเรียนอินโดฯ “อุดหนุนน้ำมัน” อย่างไร สุดท้ายปล่อยขึ้นรวดเดียว 30% !?
- ประชาชนชาวอินโดฯ ​ปรับตัวไม่ทันกับน้ำมันเเพงขึ้น​ 30% จึงออกมาประท้วงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (เครดิตรูป: Reuters) -

เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจไม่ให้ซ้ำรอยเพื่อนบ้าน ไปดูกันว่า รัฐบาลอินโดฯได้บริหารผิดพลาด หรือไม่รัดกุมประการใด จึงต้องลงเอยเช่นนี้

เริ่มแรกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก รัฐบาลอินโดฯจึงใช้งบประมาณเข้าอุดหนุนราคาน้ำมัน จากเดิมอยู่ที่ 152 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ (ราว 372,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 502 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ (ราว 1.23 ล้านล้านบาท) หรือ 16% ของแผนใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมด

เหตุผลที่รัฐบาลอินโดฯ ต้องอุดหนุนน้ำมันให้ยังคงถูกที่ลิตรละ 5,150 รูเปี๊ยะห์ (ราว 12.60 บาท) สำหรับดีเซล และ 7,650 รูเปี๊ยะห์ (ราว 18.72 บาท) สำหรับเบนซิน เป็นเพราะอินโดฯเคยผ่านบทเรียนเมื่อปี 2541 และ 2551 ที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน จนประชาชนไม่พอใจและลุกฮือขับไล่รัฐบาล นั่นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลของปธน.โจโกวี ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นซ้ำรอ

ถอดบทเรียนอินโดฯ “อุดหนุนน้ำมัน” อย่างไร สุดท้ายปล่อยขึ้นรวดเดียว 30% !?
- การประท้วงในอินโดนีเซีย อาจส่อเค้ารุนเเรงขึ้นได้ (เครดิตรูป: Reuters) -

อย่างไรก็ตาม การอุดหนุนน้ำมันเป็นเวลานานของรัฐบาลอินโดนีเซีย อาจมีข้อผิดพลาดอยู่ 2 ประการ ดังนี้

1. อุดหนุนราคาน้ำมันที่ราคาตึงตัวยาวนานไป แทนที่จะปรับเงินอุดหนุนให้ขึ้นลงตามความเหมาะสม รวมถึงไม่ผ่อนลดเงินอุดหนุนลง ให้ราคาน้ำมันค่อย ๆ สูง ให้ประชาชนค่อย ๆ ปรับตัว

2. ไม่ได้จำกัดกลุ่มคนในการใช้น้ำมันเกรดที่รัฐอุดหนุน ดังนั้น พอราคาน้ำมันเกรดสูงกว่าอย่าง Pertamax, Pertamax+ ราคาสูงขึ้นตามตลาดโลก “คนที่มีฐานะและรถหรู” ก็เปลี่ยนมาเติมน้ำมัน Pertalite ที่รัฐอุดหนุนแทน นั่นจึงทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันที่รัฐอุดหนุนสูงขึ้น งบประมาณที่ต้องอุดหนุนก็หนักขึ้นตาม

จากความผิดพลาดหลัก 2 ประการนี้ ทำให้เมื่อชาวอินโดฯเคยชินกับน้ำมันราคาถูกไปแล้ว แม้น้ำมันตลาดโลกตามจริงอยู่ในระดับสูง ชาวอินโดฯก็ยังคงไม่ตระหนักเท่าที่ควร และดำเนินชีวิตตามปกติ สิ่งหนึ่งที่เป็นจริงคือ “ทุกการอุดหนุน ล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย” เมื่องบประมาณประเทศแบกไม่ไหวอีกต่อไป การประกาศลอยตัวน้ำมันจึงเกิดขึ้น น้ำมันแพงขึ้นทันที 30% ประชาชนปรับตัวไม่ทัน และกลายเป็นเรื่องใหญ่จนเกิดการประท้วงตามมา

เมื่อย้อนกลับมาใคร่ครวญอีกที ความพยายามรัฐบาลที่ต้องการเอาใจประชาชน ด้วยการตรึงราคาน้ำมันให้ถูกตลอด กลายเป็นว่า ความพยายามนั้นต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ และยุ่งยากขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การตรึงราคาน้ำมันให้ถูกทั้งที่ราคาในตลาดโลกยังสูง เป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน และฝืนธรรมชาติมากเกินไป อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่ไม่ชัดเจนว่าการอุดหนุนนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1. แนวโน้มความหนักเบาของสงครามนี้ตอบยาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นสงครามยืดเยื้อ และมีผู้เข้าร่วมหลายประเทศ

2. รัสเซียอยู่ในกลุ่ม OPEC+ จึงมีอิทธิพลต่อการ "เพิ่ม" หรือ "ลด" อุปทานน้ำมันโลกได้

3. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่ ดังนั้นยิ่งดอกเบี้ยสูงขึ้นเท่าใด เงินดอลลาร์ก็จะแข็งขึ้นตาม ประเทศที่ต้องจ่ายด้วยเงินสกุลดอลลาร์ในการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศอย่างอินโดฯ หรือแม้แต่ไทย ก็ต้องจ่ายแพงขึ้นตามไปด้วย

ถอดบทเรียนอินโดฯ “อุดหนุนน้ำมัน” อย่างไร สุดท้ายปล่อยขึ้นรวดเดียว 30% !?
- ชาวอินโดฯ เข้าคิวรอเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา ช่วงต้นเดือน ก.ย.65 (เครดิตรูป: AFP) -

อันที่จริงแล้ว อินโดฯมีแหล่งน้ำมันในประเทศ แต่เทคโนโลยีขุดเจาะเป็นของต่างชาติเกือบทั้งหมด อีกทั้งปริมาณการกลั่นให้ใช้ในประเทศก็มีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องส่งส่วนหนึ่งไปกลั่นนอกประเทศและนำเข้ากลับมา ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปด้วย

ส่วนในประเทศไทย กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท และกองทุนฯได้ขอกู้ธนาคารกรุงไทยกับออมสินเพิ่มอีกกว่า 1.5  แสนล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องรับมือกับหนี้สาธารณะจากการอุดหนุนน้ำมันนี้ โดยเฉพาะหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อต่อไป และเฟดยังคงขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อปรามเงินเฟ้อ

โดยสรุป ทุกการอุดหนุนล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ด้วยภาวะสงครามกับราคาน้ำมันที่คาดการณ์ยาก ประกอบกับประเทศไทยไม่ได้มีบ่อน้ำมันมหาศาลอย่างซาอุฯ และไม่ได้มีเทคโนโลยีขุดเจาะเป็นของตัวเอง การค่อย ๆ ผ่อนการอุดหนุนน้ำมันลง ให้ประชาชนค่อย ๆ ปรับตัวกับน้ำมันที่สูงขึ้นตามกลไกตลาดโลกนี้ได้ จะเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่า และไม่เป็นภาระการคลังมากไป อีกทั้งควรเพิ่มการสนับสนุนรถยนต์ EV ที่ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันให้แข่งขันจนราคาเข้าถึงได้ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถ EV สิ่งเหล่านี้จะเป็นแผนสำรองในการรับมือวิกฤติพลังงานปัจจุบันนี้ได้นั่นเอง

------------------

อ้างอิง: Bangkok Post, Indonesia Posts