'คมนาคม' เร่งศึกษาโอนสิทธิ ทอท.เข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค

'คมนาคม' เร่งศึกษาโอนสิทธิ ทอท.เข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค

‘คมนาคม’ เร่งศึกษาเปรียบเทียบโอนสิทธิ ทอท.เข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยานภูมิภาค ตามความเห็นกระทรวงการคลัง คาด 2 – 3 เดือนแล้วเสร็จ ก่อนรายงาน ครม.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงว่า วันนี้ (30 ส.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานของรัฐเข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.)

“ครม.มีมติเห็นชอบหลักการให้ ทอท. เข้าไปบริหาร 3 ท่าอากาศยานของ ทย. โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการให้เรียบร้อยแล้วรายงาน ครม. เพื่อทราบอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดตามความเห็นของหน่วยงานต่างๆ แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน”

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีความเห็นเกี่ยวกับการเข้าไปบริหาร 3 ท่าอากาศยานดังกล่าว โดยให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เปรียบเทียบกรณี ทย. ดำเนินการ, กรณี ทอท.ดำเนินการ, การคาดการณ์ประมาณการผู้โดยสาร, แผนการลงทุน, แผนพัฒนาท่าอากาศยาน, ประมาณการรรายได้และรายจ่าย, ผลตอบแทนทางการเงิน, ผลกระทบต่อ ทย. และ ทอท.รวมไปถึงแผนบริหารความเสี่ยงกรณีที่การดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับการโอนย้ายสิทธิให้ ทอท.เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานกระบี่ ทอท.มีแนวทางการพัฒนาให้ท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นท่าอากาศยานระดับภาค และท่าอากาศยานศูนย์กลางรองในอนาคต ซึ่งจะสามารถพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงร่วมกับท่าอากาศยานบุรีรัมย์ที่ทำหน้าที่เป็นท่าอากาศยานรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่วนท่าอากาศยานกระบี่จะสามารถเป็นท่าอากาศยานที่ช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานภูเก็ต

โดย ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ) แยกเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท  ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่ กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574 วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 5,216 ล้านบาท และกรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท