คลังอัดมาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน!!

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนที่เกิดขึ้นและยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึง ราคาพลังงานของตลาดโลก

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนที่เกิดขึ้นและยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึง ราคาพลังงานของตลาดโลก เนื่องจากประเทศคู่สงครามทั้ง 2 เป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำคัญ ทำให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น

ในกรณีผลกระทบต่อประเทศไทยเองก็ไม่สามารถรอดพ้นจากผลกระทบดังกล่าวได้ โดยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อได้ส่งผลโดยตรงให้ระดับราคาสินค้าและบริการในหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้น และท้ายที่สุดทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 6 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 5.6 % โดยสาเหตุหลักเกิดจากการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี สศค. ได้มีเฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้มีความพยายามที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และยังอยู่ในช่วงค่อย ๆ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
กระทรวงการคลัง 

โดย สศค. ได้มีโครงการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิต รวมทั้ง รักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5

โดยทั้ง 3 โครงการจะให้ความช่วยเหลือครอบคลุมจำนวนประชาชนมากกว่า 42 ล้านคน และกระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรฐกิจในปี 2565 จำนวน 48,628 ล้านบาท ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี เพิ่มสูงขึ้น 0.13%ต่อปี

ส่วนกรณีความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นเขากล่าวว่า เศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ มีความเชื่อมโยงกับไทยในหลากหลายด้าน ทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกจากการเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบและสินค้า รวมถึง เป็นผู้บริโภครายใหญ่

ดังนั้น ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงอาจสร้างอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป  ปัจจุบัน สศค. ได้มีการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างใกล้ชิด

สำหรับแนวโน้มความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยไต้หวันเป็นผู้ผลิตและส่งออกชิปและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก โดยบริษัท TSMC ของไต้หวันครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลก ดังนั้น ความขัดแย้งจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยเฉพาะห่วงโซ่อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก