“คลัง” รับการค้ำประกันเงินกู้กองทุนน้ำมัน 1.5 แสนล้านบาท เป็นภาระการคลัง

“คลัง” รับการค้ำประกันเงินกู้กองทุนน้ำมัน 1.5 แสนล้านบาท เป็นภาระการคลัง

“คลัง” พร้อมค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมัน 1.5 แสนล้านบาท ย้ำต้องชำระคืนใน 7 ปี ระบุ ถือเป็นภาระทางการคลัง เพราะเป็นการค้ำประกันเงินกู้ และนับเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างกฎหมาย​ให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนน้ำมัน​ในวงเงินไม่เกิน​ 1.5 แสนล้านบาท​ โดยต้องชำระคืนภายใน 7 ปี

 

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า​  ไม่ได้หมายความว่า​ กองทุนน้ำมันจะต้องกู้เต็มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท​  เพราะตัวกองทุนจะต้องบริหารรายรับ และรายจ่ายของตนเองด้วย​ และเมื่อมีการกู้​ การชำระหนี้ก็เป็นเรื่องของกองทุนที่จะต้องเป็นผู้ชำระ​ ดังนั้น  การที่คลังเข้าไปค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าว​ จึงจะเป็นภาระทางการคลังในระยะหนึ่ง

เขากล่าวอีกว่า​ ข้อเสนอที่ให้คลังเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนนั้น เป็นข้อเสนอจากกระทรวงพลังงาน​  เนื่องจาก ที่ผ่านมา ตัวกองทุนไม่สามารถขอกู้จากธนาคาร​ได้ เพราะสถาบันการเงินมองว่า กองทุนมีความเสี่ยงในเรื่องการชำระหนี้​ ขณะที่ กระทรวงการคลัง ไม่สามารถค้ำประกันหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับได้​ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม​ การที่กระทรวงการคลัง จะค้ำหรือไม่ค้ำให้กองทุน​ หากกองทุนไปกู้มา​ หนี้นั้นก็จะเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมายอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึง ​การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายว่า​ บางคนมองว่า​การปรับขึ้น​ 0.25% น้อยไป​  แต่อย่างไรก็ตาม​ เราจำเป็นต้องปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ​ หลังจากได้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังในช่วงที่ผ่านมา

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย​ ไม่ใช่จะพิจารณาเฉพาะเรื่อง​ การควบคุมเงินเฟ้อ ​และควบคุมเงินไหลออกเท่านั้น​ จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องการพื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย”

เขากล่าวว่า​ การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ถือว่าขยายตัวดี​คือ ขยาย 2.5%  ขณะที่ ไตรมาส 1 ขยายตัว 2.2%  คาดว่า ทั้งปีนี้น่าจะสามารถขยายตัวได้ในระดับ 3% ต่ำสุดน่าจะอยู่ที่ 2.5%  ขณะที่ คลัง และธปท. คาดว่า​เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวในช่วง 3-3.5%

เขากล่าวอีกว่า​ ในสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น​ ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหา​ เพราะรายได้ของคน​ ขยายตัวไม่ทันกับรายจ่าย อย่างไรก็ตาม ​เสียงจากสถาบันการเงินเอกชนก็ออกมาว่าจะช่วยดูแลลูกหนี้​ โดยชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้​ ส่วนสถาบันการเงินภาครัฐจะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกค้าจนถึงสิ้นปีนี้

ในส่วนของหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล​ เมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้น​ก็จะมีภาระเพิ่มขึ้น​ แต่คงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว​ เนื่องจาก ในช่วงที่ผ่านมา​ กระทรวงการคลัง​ ได้มีการบริหารจัดการภาระหนี้​ เช่น​ การปรับดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวเป็นคงที่แล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์