กรุงไทย ชี้ ต่างชาติแห่ถือบอนด์สั้น หวังเก็งกำไรเงินบาท

กรุงไทย ชี้ ต่างชาติแห่ถือบอนด์สั้น หวังเก็งกำไรเงินบาท

กรุงไทย" ชี้พบสัญญาณ "ต่างชาติ" แห่เก็งกำไร "เงินบาท" ผ่านการลงทุนซื้อบอนด์ระยะสั้นทะลัก ครึ่งเดือนส.ค. 1.8 หมื่นล้านบาท 8 เดือนซื้อสุทธิ 7.4 หมื่นล้านบาท ขานรับเศรษฐกิจไทย - ท่องเที่ยวฟื้นตัว "ไทยพาณิชย์" ชี้เงินต่างชาติไหลเข้าบอนด์ระยะสั้นช่วงบาทแข็งเร็วสุดในภูมิภาค

       เงินบาทเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ช่วงเดือนม.ค.ถึงก่อนประชุมเฟดวันที่ 26-27 ส.ค.ที่ผ่านมานี้ เงินบาทอ่อนค่า 9.3% และหลังประชุมเฟด 26-27 ก.ค.ถึงวันที่ 16 ส.ค.เงินบาทแข็งค่าสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 3.7% แต่ตั้งแต่ต้นปีนี้ ถึงปัจจุบันเงินบาทยังอ่อนค่าระดับปานกลางที่ 6%

     นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า หากดูปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนจากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวหลังจากการเปิดประเทศ ทำให้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะขาดดุลน้อยลง และจะเริ่มเห็นการกลับมาบวกได้ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า 
 

     เช่นเดียวกันดุลการค้าที่มีโอกาสเกินดุลมากขึ้น จากการคาดการณ์ราคาน้ำมันที่เริ่มทรงตัวแล้ว และคาดว่าจะไม่กลับไปยืนเหนือ 140-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหมือนช่วงที่ผ่านมา ทำให้แรงกดดันต่อการนำเข้าน้อยลง

เก็งกำไรเงินบาท’ ผ่านบอนด์ระยะสั้น

     ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในการกลับมาลงทุนซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นทั้งผ่านหุ้น และตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่กลับมาน่าสนใจขึ้น เพราะนักลงทุนประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นการลงทุนตราสารหนี้ยังน่าสนใจทั้งระยะสั้น และยาว โดยเฉพาะระยะสั้น 3-6 เดือน พบต่างชาติซื้อค่อนข้างมากช่วงที่ผ่านมา เพื่อเก็งกำไรเงินบาท

     ทั้งนี้ การเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทผ่านการเข้ามาซื้อบอนด์ระยะสั้น พบว่า หลังจากเงินบาทหลุด 36.00 บาท จะเห็นต่างชาติเก็งกำไรต่อเนื่อง

     โดยเฉพาะระดับที่ 35.50 บาท เป็นระดับที่นักลงทุนเริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้น

     ซึ่งหากดูการเข้ามาซื้อบอนด์ระยะสั้นของต่างชาติตั้งแต่ต้นปีถึงกลางเดือนส.ค.พบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 7.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่บอนด์ระยะยาวมียอดซื้อสุทธิ 5.1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นชัดเจนว่าต่างชาติมาซื้อบอนด์ระยะสั้นเพื่อหวังจังหวะเก็งกำไรเงินบาท 

      โดยเฉพาะเดือนส.ค.2565 ต่างชาติกลับมาซื้อบอนด์ระยะสั้นหนักๆ โดยครึ่งเดือนมีแรงซื้อบอนด์ระยะสั้นถึง 1.84 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้นับตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงกลางเดือนส.ค.ยอดซื้อสุทธิต่างชาติในบอนด์ระยะสั้นอยู่ที่ 1.24 แสนล้านบาท

      หากเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และช่วงก่อนหน้า พบการซื้อบอนด์ระยะสั้นของต่างชาติเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด โดยเดือนส.ค.2564 มีการเข้ามาซื้อบอนด์ระยะสั้นจากต่างชาติเพียง 6.1 พันล้านบาท หรือนับตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงกลางเดือนส.ค. มียอดซื้อต่างชาติเพียง 1.71 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เข้าลงทุนในบอนด์ระยะยาวถึง 9.4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท

ต่างชาติดัน ‘บาทแข็งค่า’

     การกลับมาเก็งกำไรเงินบาท ผ่านการถือบอนด์ระยะสั้น หลักๆ เพราะมองว่าเงินดอลลาร์พีคไปแล้ว และทุกคนมองว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงหลังจากนี้ ทำให้ดอลลาร์เริ่มเปลี่ยนเทรนด์ ทำให้หุ้นเทคฯ หุ้นเติบโตกลับมาตีบาวน์ จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวโดดเด่น ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นกลับมา ท่องเที่ยวดีขึ้น ทำให้เป็นจังหวะที่ฝรั่งจะเข้ามาซื้อ และเก็งกำไรเงินบาทมากขึ้น สอดรับกับพื้นฐานของไทย

      ส่วนระยะข้างหน้า มองทิศทางเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยคาดสิ้นปีจะไปแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ ในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่ 35.50 บาท และอาจเห็นการเคลื่อนไหวผันผวนของเงินบาทมากขึ้น และมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนชัดเจนขึ้น ในครึ่งปีหลังของปีหน้า ที่อาจเกิดการผันผวนมากกว่าปกติ และอาจเห็นบางจังหวะที่เงินบาทกลับมาอ่อนค่า จากการเทขายสินทรัพย์ กลับไปถือดอลลาร์

เงินไหลเข้าตราสารหนี้

     นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ววานนี้ (16 ส.ค.) มาจากเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าทั้งหุ้นและตราสารหนี้ไทย เข้ามาลงทุนตามปัจจัยพื้นฐานคาดหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปีนี้ หลังจากเปิดประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

     และด้วยแนวโน้มนโยบายการเงินโลกอย่างเฟดผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ยหลังเงินเฟ้อที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หนุนกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดประเทศเกิดใหม่

      สำหรับแม้จะมีเงินลงทุนต่างชาติบางส่วน พบการไหลเข้าในตราสารหนี้ระยะสั้นในเดือนส.ค.มีมูลค่าราว1.8 หมื่นล้านบาท อาจสะท้อนเข้ามาเก็งกำไรได้ในช่วงเงินบาทแข็งค่าพอดีแต่มองว่าไม่ได้น่ากังวล เพราะมูลค่าไม่มาก และอาจเป็นเงินลงทุนที่เข้ามาพักเพื่อรอจังหวะกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยได้เช่นกัน

     ดังนั้น ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเข้ามาดูแลการแข็งค่าของเงินแต่อย่างใด สามารถปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งการที่เงินบาทแข็งขึ้นบ้าง ยังช่วยลดแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้ออีกด้วย

     “แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบสกุลอื่นในภูมิภาค แต่หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 16 ส.ค.เงินบาทยังอ่อนค่าระดับปานกลาง และเราประเมินว่าเงินบาทในช่วงนี้ยังผันผวน และมีแนวโน้มแข็งค่าเล็กน้อยไปถึงสิ้นปีนี้ มองกรอบที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์”

      นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBAM) กล่าวว่า ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าบอนด์ไทยเดือนส.ค.แล้วกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท สัดส่วนใหญ่ 80-90%อยู่ในบอนด์ระยะสั้น มองว่า ฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามายังไม่ได้มีมูลค่ามาก ในระดับที่มีนัยสำคัญต่อตลาด แต่ยังต้องติดต่อไป

      "ฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ามาในบอนด์ระยะสั้น เป็นไปตามเซ็นทริเมนต์ภาพรวมของตลาด และเศรษฐกิจไทยเป็นบวกมากขึ้นกว่าช่วงเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค.ที่เป็นฟันด์โฟลว์ไหลออก หลังจากเฟดไม่ได้มีท่าทีเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังจากเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง

เป้าจีดีพี “สศช.” ต่ำกว่าคาด

     นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจสภาพัฒน์ที่ออกมา ถือว่าต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ระดับหนึ่ง หลักๆ มาจากการสะสมสินค้าคงคลังที่สะสมน้อยกว่า ธปท.คาด

      แต่ภาพรวมอื่นๆ ถือว่าดีกว่าที่ ธปท.คาดทั้งหมด ทั้งภาคท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว ภาคการคลัง การบริโภคเอกชน เหล่านี้ตอกย้ำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มขึ้นแล้ว

     เช่นเดียวกันครึ่งปีหลัง ที่มองว่า จากองค์ประกอบด้านอุปสงค์ เครื่องชี้ที่ออกมา คงขยายตัวต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อครึ่งปีหลังนี้ โดยเฉพาะจากการคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น และอาจมีอัพไซด์มากกว่าคาด

      นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เปิดเผยว่า Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน คือ The New K-Shaped Economy จากปัจจัยความเสี่ยงใหม่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อ และต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เคยเติบโตดีมีความเสี่ยงขึ้น เช่น ธุรกิจส่งออก

โอกาสเศรษฐกิจโลกถดถอยมีต่ำ

     นายฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะต่อเนื่อง และถึงจุดพีคเดือนก.พ.2566 ที่ 3.4% จากนั้นเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง โดยปี 2566 อาจเห็นดอกเบี้ยลงมาที่ 2.9% จากการถอนคันเร่งขึ้นดอกเบี้ย

     โดยการที่เศรษฐกิจสหรัฐลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกันยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เป็น Technical recession ดังนั้นขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะนำไปสู่ Hard Landing เศรษฐกิจโลก

     “หากดู 3 ปัจจัย ทั้งรัสเซีย-ยูเครน การคว่ำบาตร การควบคุมโควิดในจีน เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย เชื่อว่าไม่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่การขยายตัวจะชะลอตัวลง”

     ทั้งนี้ อีกความท้าทายที่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นคือ วิกฤตการณ์ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระดับรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในเอเชีย ได้แก่ ลาว เมียนมา ปากีสถาน และศรีลังกา

ท่องเที่ยวหนุนบาทแข็งค่า

    เดือนส.ค.2565 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.3% มาอยู่ที่ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ มากกว่าสกุลอื่นในเอเชีย ผลจากคาดการณ์นักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนขึ้น และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลงเนื่องจากราคาน้ำมันลดลง

     โดยการแข็งค่าหมายความว่าเงินบาทไปแตะระดับ 35.2 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในไตรมาส 4 การที่เงินบาทแข็งค่าเร็วทำให้เกิดการพูดถึงกันมากว่าดอลลาร์ถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง

      นายมิตัล โคเทชา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดเกิดใหม่ บริษัท ทีดี ซีเคียวริตีส์ ในสิงคโปร์ คาดเงินบาทมีอัพไซด์มากขึ้น แม้พยายามคาดการณ์อย่างระมัดระวังแล้วก็ตาม เนื่องจากค่าเงินเพิ่มขึ้นเร็วมากช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การรีบาวด์ได้แรงหนุนจากดอลลาร์อ่อนค่า

     ซึ่ง ธปท.เปลี่ยนนโยบาย สัญญาณการท่องเที่ยวฟื้นตัว และข้อมูลเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น

     ทั้งนี้ ไม่กี่วันก่อน โฆษกรัฐบาลแถลงว่า ปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 10 ล้านคน จากคาดการณ์ไว้ 6.1 ล้านคน ในเดือนเม.ย. ส่วนปี 2566 เพิ่มเป็น 30 ล้านคน ยังไม่ถึง 40 ล้านคน ที่เคยทำได้ก่อนโควิด-19 ระบาด

      ขณะเดียวกันการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปีของ ธปท.เมื่อสัปดาห์ก่อนยังไม่สามารถหนุนค่าเงินบาทได้ เนื่องจาก ธปท.ส่งสัญญาณจะค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่

     อีกหนึ่งสัญญาณบวกคือ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งได้อีก นักกลยุทธ์มาลายัน แบงกิง คาดว่า เงินบาทจะขึ้นไปอยู่ที่ 34.80 บาทในไตรมาสแรกของปี 2566 นักกลยุทธ์จากธนาคารสก็อตเทีย แบงก์ คาดเงินบาทแกว่งตัวอยู่ที่ 35-36 บาท ทั้งยังเป็นไปได้ที่จะอ่อนกว่านี้อีก

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์