เครดิตบูโร ห่วงหนี้เสียครัวเรือน ทะลุ 1.1ล้านล. ลูกหนี้ผ่อนไม่ไหวพุ่ง

เครดิตบูโร ห่วงหนี้เสียครัวเรือน ทะลุ 1.1ล้านล. ลูกหนี้ผ่อนไม่ไหวพุ่ง

“เครดิตบูโร” เปิดหนี้เสียมิ.ย.พุ่ง 1.1 ล้านล้าน ชี้ ลูกหนี้ค้างชำระ-ปรับโครงสร้างหนี้ตกชั้นอื้อ “แบงก์”แห่งัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ “แบงก์กสิกรไทย” ลดยอดผ่อนชำระ 10%ต่อเดือน “แบงก์กรุงเทพ”เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่มผ่านมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน

       นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) กล่าวในเสวนา “ดอกเบี้ยพุ่ง SMEs โคม่า” ที่จัดขึ้นโดย พรรคสร้างอนาคตไทยว่า หากดูภาพรวม หนี้ครัวเรือน ผู้ประกอบการขนาดเล็กพบว่าวันนี้ หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.6 ล้านคน หรือ 89% หากเทียบกับจีดีพีไทยที่ 14.6 ล้านล้านบาท

      ซึ่งหากดูข้อมูลหนี้ครัวเรือนบนข้อมูลของ “เครดิตบูโร” พบว่ามีถึง 13 ล้านล้านบาท ครอบคลุม 32 ล้านคน

      โดยวันนี้ หนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ทะลุ 1.1ล้านล้านบาทแล้ว ในมิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา หรือคิดเป็นหนี้เสียที่ 8.6% ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นชัดเจนหากเทียบกับไตรมาส 1ที่ผ่านมา ที่หนี้เสียอยู่เพียง 9.5 แสนล้านบาท หรือ 7.5%

      ขณะที่ ตัวเลขสินเชื่อที่ค้างชำระยังไม่เกิน 90วัน หรือ 3งวด (SM) กลุ่มนี้ พบว่า แม้ผู้ประกอบการขนาดเล็กตกลงมาอยู่ที่ระดับ 3% แต่ตัวเลขไปเพิ่มขึ้นในกลุ่มสีแดง หรือหนี้เสียมากขึ้น เช่นเดียวกัน ยอดการปรับโครงสร้างหนี้ ปัจจุบันทรงตัวที่ระดับ 6% ในไตรมาส 2

      ทั้งนี้สะท้อนว่ากลุ่มที่เลี้ยงงวดไปเรื่อยๆ ไปไม่ไหว หรือกลุ่มที่ปรับโครงสร้างหนี้น้อยลง แสดงว่า คนไม่มีรายได้พอในการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ส่งผลให้หนี้เสียในไตรมาส 3 กระโดดจาก 9.5 แสนล้านบาท เป็น 1.1ล้านล้านบาท

ลูกหนี้โควิดทะลัก4.3ล้านบัญชี

       นายสุรพล กล่าวว่า ที่สำคัญหากดูข้อมูลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือรหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบโควิดจนเป็นหนี้เสียในช่วง ปี 2563-2564 จากก่อนหน้าที่ไม่เคยเป็นหนี้เสีย พบว่า กลุ่มนี้มากขึ้นต่อเนื่อง

     โดยเพิ่มขึ้นจากมี.ค. ที่มีจำนวนบัญชี 2.7 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นมาเป็น 4.3 ล้านบัญชี ในมิ.ย. 2565 หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนล้านบาท จากระดับ 2.2 แสนล้านบาท จากไตรมาสแรกที่ผ่านมา 

   ขณะที่ผู้ที่ประสบภัยทางการเงินจากโควิดเหล่านี้ เพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ล้านคน จาก 2.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 8 แสนคน ในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา

      ดังนั้น ควรมีการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้  โดยเริ่มต้นที่รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบมาจากโควิด เหล่านี้มีถึง 2.9 ล้านคน หากสามารถช่วยกลุ่มนี้ได้ 1 ล้านคน ก็จะแก้ไขปัญหาหนี้ได้ตรงเป้า

     แต่วันนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มากในการปล่อยสินเชื่อ คือห้ามปล่อยสินเชื่อให้คนที่เป็นหนี้เสีย ดังนั้นเหล่านี้หากสามารถแก้ตรงนี้ได้จะหนุนให้เอสเอ็มอีที่เจอปัญหา เข้าถึงสินเชื่อและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

เอื้อกลุ่มหนี้เสียเข้าถึงสินเชื่อ

      นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบัน มีหน่วยงานภาครัฐเยอะมาก ที่ให้ความช่วยเหลือคนตัวเล็ก เอสเอ็มอีกว่า 100กว่าหน่วยงาน

     แต่การช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึงคนตัวเล็ก เอสเอ็มอีได้อย่างครอบคลุมเพราะ การเข้าไปช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริม แต่กลับไปชี้แนะการทำธุรกิจที่ขาดความเข้าใจที่แท้จริง ดังนั้นภาครัฐต้องถอยและทำหน้าที่ส่งเสริม ช่วยสนับสนุนให้เอสเอ็มอีทำธุรกิจง่ายขึ้น เข้าถึงการเงินได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดต่างๆในการทำธุรกิจ

     รวมถึง การลดข้อจำกัดการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี ทั้งแก้กฏหมาย สร้างความเท่าเทียมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น รวมถึง กฎกติกาในการเข้าถึงสินเชื่อ ที่ไม่สนับสนุนหรือปล่อยสินเชื่อให้คนที่เคยผิดนัดชำระหนี้ หรือเป้นหนี้เสีย เช่นไม่กล้าปล่อยกลุ่ม 21 เหล่านี้ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้

หนุนนำธุรกิจแผงลอยเข้าระบบ

     นายเรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการแผงลอย ถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย

     ซึ่งแผงลอยอาจไม่หมายถึงการค้าขายวางกับพื้นอย่างเดียว แต่หมายถึงผู้ค้าที่ทำธุรกิจ เปิดร้านต่างๆด้วย ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2แสนราย แต่จากการสำรวจของกรุงเทพมหานครพบว่ามีเพียง 6-7 หมื่นรายเท่านั้น

     ดังนั้นมองว่า หากสามารถสนับสนุนให้ผู้ค้าเหล่านี้ ขึ้นทะเบียนได้ และมีการส่งเสริมจัดหาพื้นที่ค้าขายให้ผุ้ค้าเหล่านี้ จะยิ่งเป็นการช่วยเหลือคนตัวเล็ก ช่วยเอสเอ็มอีได้มากขึ้น

    ควบคู่ไปกับการอบรบวิชาชีพให้ความรู้เพิ่มเติม ในการใช้ค้าขายและยกระดับศักยภาพในระยะข้างหน้า

     อีกทั้งปัจจุบันพบว่า ผู้ค้าแผงลอย เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เข้าไม่ถึงระบบสินเชื่อค่อนข้างมาก และมีการพึ่งหนี้นอกระบบถึง 20%

    ดังนั้นตรงนี้ถือเป็นจุดสำคัญ ที่ทางการ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ และสนับสนุนให้กลุ่มนี้เข้าถึงทางการเงินเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาระบบ และช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้

      นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า วันนี้เห็นความพยายามของภาครัฐ ที่พยายามช่วยเหลือ เอสเอ็มอี แต่การช่วยเหลือวันนี้ยังเป็นการต่างคนต่างช่วย และการช่วย แบบ one size fit all ที่ช่วยแบบเดียวเหมือนกันหมด

     ดังนั้น การช่วยเหลือจึงไม่เกิดเป็นรูปธรรม หรือการเข้าถึงการช่วยเหลือยังไม่มากเท่าที่ควร

      ทั้งนี้ หากพูดถึง เอสเอ็มอี ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 34% ของจีดีพี แม้จะมีขนาดใหญ่ หากเทียบกับระบบเศรษฐกิจ แต่ควรมีมาตรฐานวัด    “เอสเอ็มอี”ในมิติอื่นๆด้วย ไม่ใช่ดูจากภาพใหญ่อย่างเดียว  เช่น การวัดการเข้าถึงบริการทางการเงิน การเข้าถึงซอฟท์โลน ที่พบว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ เข้าถึงสินเชื่อไม่ง่าย ที่ยังเป็นปัญหา

     ดังนั้นการช่วยเหลือนอกจากมิติการเงินแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเจาะลึก มาตรการช่วยเหลือ ทั้งมาตรการระยะสั้น และวางแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวยาว มองไปถึงอนาคตด้วย

เคแบงก์ลดยอดผ่อนหนี้10%

   นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)กล่าวว่า  ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อแต่ละผลิตภัณฑ์ไม่เกิน 2 ล้านบาท และไม่มีสถานะเป็นหนี้เสีย

     โดยรายละเอียดมาตรการ “ลดยอดผ่อนชำระต่อเดือน 10%” ระยะเวลา 12 เดือน ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการนี้ ได้แก่ ลูกค้าธุรกิจที่ใช้บริการ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ และสินเชื่อเงินด่วนเพื่อธุรกิจ ลูกค้าบุคคลที่ใช้บริการ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเงินด่วน

     รวมถึงมาตรการ “ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5%” ระยะเวลา 12 เดือน ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการนี้ ได้แก่ ลูกค้าบุคคลที่ใช้บริการ บัตรเครดิต และบัตรเงินด่วน โดยมาตรการนี้จะเป็นการปรับยอดขั้นต่ำให้ลูกค้าโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ โดยลูกหนี้ธุรกิจสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. -30 ธ.ค.ปีนี้

แบงก์กรุงเทพเร่งช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อ

    นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพมีความห่วงใยในความเดือดร้อน ของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ  จึงเห็นความจำเป็นในการดูแลช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่ออย่างตรงจุด ทันการณ์ และได้ผลจริง

     โดยมีมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกประเภท ทั้งลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าบุคคล เพื่อให้ลูกค้าได้รับความช่วยเหลืออย่างยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้

      สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกค้ามีหลายรูปแบบ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับลูกค้า เช่น การพิจารณาปรับลดยอดผ่อน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ให้ระยะเวลาปลอดหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย โอนทรัพย์ชำระหนี้ ให้สินเชื่อใหม่ การขยายวงเงินบัตรเครดิตจาก 1.5 เท่าเป็น 2 เท่าของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีการรวมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่ไม่มีหลักประกัน