‘ซุปเปอร์ชีป’ ยักษ์ค้าปลีกภูธร ครองอันดับ 1 รวยสุดในภูเก็ต
ไม่ใช่ยักษ์ก็เอาชนะได้! ผ่าอาณาจักร “ซุปเปอร์ชีป” ห้างภูธรครองอันดับ 1 “รวยสุด” ใน จ.ภูเก็ต รายได้แตะ “หมื่นล้านบาท” โตจากโชห่วยเล็กๆ สู่ค้าปลีกที่มีตั้งแต่สากกระเบือยันเรือไม้!
Key Points:
- “ซุปเปอร์ชีป” ยักษ์ค้าปลีกภูธรแห่งเมืองภูเก็ต กวาดยอดขาย “หมื่นล้านบาท” 3 ปีซ้อน กระจายตัว 50 สาขา 4 จังหวัดภาคใต้ การันตีหากมาที่นี่ลูกค้าจะได้รับสินค้าราคาถูกที่สุดกลับไป
- เทคนิคในการ “ดั๊มป์ราคา” ของซุปเปอร์ชีป คือตัดต้นทุนแฝงที่ไม่จำเป็นออกไปทั้งหมด โดยเฉพาะส่วนของการบริการ ห้างซุปเปอร์ชีปไม่ติดแอร์ ลักษณะคล้ายโกดังเก็บของ มีสินค้าให้เลือกตั้งแต่ของสดไปจนถึงประดับยนต์ อุปกรณ์ก่อสร้าง เรือไม้ ฯลฯ
- “ซุปเปอร์ชีป” เคยเผชิญอุปสรรคจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สาขาเรือธงในปี 2556 และสาขามินิมาร์ทในปี 2558 แต่ก็ผ่านมาได้เพราะความ “ใจใหญ่” ของผู้บริหารที่ประกาศไม่ปลดพนักงานแม้แต่คนเดียวทำให้ได้รับเสียงชื่นชมเป็นจำนวนมาก
สถานการณ์ค้าปลีกไทยผลัดกันรุกรับกรีฑาทัพระหว่าง “ปลาใหญ่” กับ “ปลาใหญ่” มาโดยตลอด นับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา “ยักษ์รีเทล” ที่มีเครือข่ายพร้อมด้วยต้นทุนที่มากกว่าเริ่มขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้นจากที่ครองฐานลูกค้าเขตเมืองได้แข็งแรงดีแล้ว ทำให้บรรดาค้าปลีกภูธรที่เติบโตจาก “โชห่วยเล็กๆ” ต้องเริ่มปรับเกมจากความเข้าใจในตลาดท้องถิ่นที่มีความเฉพาะตัวมากกว่าได้
เวลาผ่านไปมีค้าปลีกท้องถิ่นหลายรายเลือกตัดธุรกิจบางส่วนออกเพื่อรักษา “เส้นเลือดใหญ่” เอาไว้ บางเจ้าใช้วิธี “ร่วมด้วยช่วยบริหาร” หากเป็นเกมที่พิจารณาแล้วว่าสมประโยชน์กันทั้งคู่ แต่ถ้าต้องชนกับยักษ์ใหญ่ตรงๆ ความเป็นไปได้ที่ “ไก่รองบ่อน” จะเอาชนะได้ก็คงริบหรี่เหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่กับ “ซุปเปอร์ชีป” ค้าปลีกจ.ภูเก็ตที่ครองใจคนในพื้นที่มานานกว่า 28 ปี
แม้ภูเก็ตจะเป็นเมืองเศรษฐกิจที่คราคร่ำไปด้วยนายทุนน้อยใหญ่ เต็มไปด้วยศูนย์การค้า ดิสเคาต์สโตร์ คอนวีเนียนสโตร์ และโมเดิร์นเทรดจากบิ๊กรีเทลหลายเจ้า ทว่า “ซุปเปอร์ชีป” ใต้ร่มตระกูลอนันตจรูญวงศ์กลับมีรายได้เติบโตทุกปี สร้างผลประกอบการได้มากถึง “หมื่นล้านบาท” ลูกค้ามี “Brand loyalty” เหนียวแน่น จนห้างไม่ต้องทำการตลาดอะไรมากมายก็สามารถยืนระยะรักษา “วอลุ่ม” การซื้อขายไว้ได้
- ตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็น กดราคาให้ถูกที่สุด เอาชนะบน “เกมราคา” ได้
ในขณะที่ห้างร้านจากทุนใหญ่เน้นของสดใหม่พร้อมความสะดวกสบาย แต่กับ “ซุปเปอร์ชีป” ที่หากถอดรหัสจากชื่อก็จะพบว่า นี่คือค้าปลีกที่มุ่งเน้นเรื่อง “ราคาสินค้า” ทำอย่างไรให้ของมีราคาถูกที่สุด บรรดายักษ์รีเทลอาจได้เปรียบเรื่องคอนเนกชันและปริมาณสต๊อกสินค้าที่ทำให้มีราคาขายถูกกว่ารายเล็ก แต่อีกด้านหนึ่งค้าปลีกของบรรดาเจ้าสัวก็ถูกออกแบบโครงสร้างโดยมีการให้บริการเป็นแกนใหญ่ในการขับเคลื่อนธุรกิจเช่นกัน ทั้งความพรีเมียมของสถานที่ พนักงาน ชุดยูนิฟอร์ม ฯลฯ เหล่านี้คือต้นทุนแฝงที่ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับตัวสูงตามไปด้วย
“ซุปเปอร์ชีป” เลือกตัดปัจจัยเหล่านี้ออกเป็นอย่างแรกๆ รูปแบบห้างร้านไม่มีการติดแอร์ ลักษณะเป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่คล้ายโกดังเก็บสินค้า มีทุกอย่างให้เลือกสรรตั้งแต่สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคไปจนถึงกระถางต้นไม้ ปลาสวยงาม กรงนก ของประดับยนต์ ปูนซีเมนต์ กระทั่งเรือไม้สำหรับเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเรือก็มีจำหน่ายที่นี่ด้วย!
“เฮียทวน” พนักงานเก่าแก่ของร้าน “ซุปเปอร์ชีป” เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ร้านค้าซุปเปอร์ชีปมีการต่อเติมอยู่เรื่อยๆ ตามจำนวนสต๊อกสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยร้าน “ซุปเปอร์ชีป” สาขาถนนเทพกระษัตรีแบบดั้งเดิมถูกออกแบบง่ายๆ ด้วยหลังคาสังกะสีที่มีโครงไม้รองรับ หากแหงนหน้ามองขึ้นไปด้านบนก็จะเห็นโครงหลังคาเปิดโล่งทันที เนื้อที่กว้างขวางสุดลูกหูลูกตาไม่มีบรรยากาศเย็นฉ่ำเหมือนกับห้างร้านของบรรดาทุนใหญ่ แต่ที่นี่มีไม้ตายที่คนภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงต้องมาใช้บริการ นั่นคือราคาสินค้าถูกกว่าท้องตลาด หลายรายการถูกกว่าห้างร้านทั่วไปถึงครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ “ซุปเปอร์ชีป” ยังมีสินค้าสารพัดอย่างที่ร้านค้าโมเดิร์นเทรดไม่มีวางจำหน่าย เป็นสินค้าที่เกิดจากความเข้าใจคนในพื้นที่อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่สินค้าสำเร็จรูปแต่ “ซุปเปอร์ชีป” ยังยกตลาดสดมาไว้ใจกลางห้างกึ่งโกดังแห่งนี้ ทั้งผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ปลาตัวใหญ่สารพัดชนิด แกงถุงพร้อมทาน ฯลฯ เรียกว่า มาที่นี่ที่เดียวได้ทุกอย่างที่ต้องการครบจบในราคาสบายกระเป๋า
อย่างไรก็ตาม นอกจากสาขารูปแบบโกดังเปิดโล่งแล้ว ปัจจุบัน “ซุปเปอร์ชีป” ยังรุกตลาดด้วยโมเดล “คอนวีเนียนสโตร์” ลงแข่งในสนามเดียวกับค้าปลีกเจ้าใหญ่ มีลักษณะร้านแบบ “มินิมาร์ท” ติดแอร์เดินสะดวกสบายไม่ต่างกับร้านสะดวกซื้อเจ้าอื่นๆ โดยบางสาขาได้มีการเชื่อมต่อร้านให้ครบทั้งอีโคซิสเทมมากขึ้นด้วยการผนึกโมเดลโกดังปลีก-ส่งไว้ด้านหลังมินิมาร์ท หากลูกค้าต้องการเลือกซื้อของชิ้นใหญ่ ราคาย่อมเยา ก็สามารถเดินทะลุจากมินิมาร์ทมายังโซนโกดังด้านหลังได้ทันที
- ธุรกิจของ “คนตัวเล็ก” แต่ “ใจใหญ่”
ปี 2556 หลังจาก “ซุปเปอร์ชีป” ดำเนินกิจการมาได้ 18 ปี ขยายไปมากถึง 45 สาขา ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อ “ซุปเปอร์ชีป” สาขาเรือธงเนื้อที่ 50 ไร่บนถนนเทพกระษัตรีเกิดเหตุเพลิงไหม้รุนแรงเสียหายแทบทั้งหลังรวมมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ทำให้เกิดความกังวลตามมาว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะสร้าง “สึนามิระลอกสอง” อย่างการปลดคนงานเพื่อลดต้นทุนหรือไม่ เนื่องจากสาขาของ “ซุปเปอร์ชีป” ขณะนั้นมีจำนวนมาก รวมพนักงานทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติทั้งสิ้น 3,000 คน ทว่า หลังเกิดเหตุ “บุญสม อนันตจรูญวงศ์” ผู้บริหาร “ซุปเปอร์ชีป” รุ่นที่สองก็ได้ออกมาประกาศว่า จะไม่มีพนักงานห้าง “ซุปเปอร์ชีป” คนใดตกงาน ขอให้ทุกคนเข้ามารายงานตัวเพื่อกลับมาทำงานตามปกติ สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงาน ณ สาขาใหญ่จะมีการกระจายไปตามสาขาอื่นๆ แทน ส่วนคนที่ต้องการหางานใหม่ก็สามารถเข้ามายื่นเรื่องลาออกได้เช่นกัน
แม้จะสร้างความเสียหายให้ค้าปลีกภูธรรายนี้ไม่น้อยแต่เหตุการณ์ครั้งนี้กลับได้ใจคนภูเก็ตไปเต็มๆ ทั้งยังมีการเผยแพร่ข่าวไปทั่วประเทศจนได้รับเสียงชื่นชมถึงความ “ใจใหญ่” ของผู้บริหารที่ไม่คิดทอดทิ้งพนักงานแม้แต่คนเดียว โดยระหว่างการก่อสร้างอาคารซุปเปอร์ชีปหลังใหม่ทางห้างได้ปรับการขายด้วยการนำสินค้าคงคลังมากางเตนท์วางขายบริเวณลานจอดรถแบบง่ายๆ มีทั้งผักผลไม้ อาหารทะเล ของอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ฯลฯ พร้อมกันนั้นก็เป็นจังหวะให้ “ซุปเปอร์ชีป” แตกหน่อลุยสาขามินิมาร์ทไปด้วย ซึ่งผลปรากฏว่า ยอดขายสาขาอื่นๆ รวมกันเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
-บุญสม อนันตจรูญวงศ์ ผู้บริหาร “บริษัท ซุปเปอร์ชีป จำกัด”-
หากย้อนดูตัวเลขผลประกอบการ “บริษัท ซุปเปอร์ชีป จำกัด” ระหว่างปี 2556 ถึง 2558 จะพบว่า ยอดขายรวมระหว่างปี 2556 ถึง 2557 ใกล้เคียงกันอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท โดยปี 2557 เป็นปีเดียวที่บริษัท “ติดลบ” ขาดทุนกว่า 468 ล้านบาท แต่ในปี 2558 “ซุปเปอร์ชีป” ก็สามารถปั้นยอดขายและทำกำไรจนเติบโตพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว หากเทียบเคียงรายได้และกำไรระหว่างปี 2556 ถึง 2558 มีรายละเอียดดังนี้
- ปี 2556: รายได้รวม 5,484 ล้านบาท กำไรสุทธิ 14 ล้านบาท
- ปี 2557: รายได้รวม 5,440 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 468 ล้านบาท
- ปี 2558: รายได้รวม 7,005 ล้านบาท กำไรสุทธิ 410 ล้านบาท
โดยผลประกอบการปี 2558 ยังนับเป็นปีที่ “บริษัท ซุปเปอร์ชีป จำกัด” ทำกำไรได้มากที่สุดในรอบ 10 ปีด้วย
- ไต่ระดับสู่ “หมื่นล้าน” กำไรไม่ต้องมาก เน้นอัด “วอลุ่ม” หนักๆ
ปัจจุบันรายได้ห้างซุปเปอร์ชีปภายใต้การบริหารของ “บุญสม อนันตจรูญวงศ์” มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 เป็นปีแรกที่ซุปเปอร์ชีปมีผลประกอบการทะลุ “หมื่นล้านบาท” หลังจากนั้นก็สามารถรักษาระดับรายได้รวมเฉลี่ยที่หมื่นล้านบาทได้เกือบทุกปี ขณะที่ “ซุปเปอร์ชีป” รายล้อมไปด้วยคู่แข่งมากหน้าหลายตาแต่จนถึงปัจจุบันห้างภูธรแห่งนี้ก็ยังยืนหนึ่งเป็น “Top of mind” ในใจลูกค้าชนิดที่ว่า แม้จะมียักษ์รีเทลเข้ามาทำการตลาดมากมายแค่ไหนก็ไม่สามารถล้มค้าปลีกเจ้าถิ่นรายนี้ได้
โมเดลธุรกิจของ “ซุปเปอร์ชีป” ยืนอยู่บนหลักการง่ายๆ คือทำให้สินค้าราคาถูกแบบ “เหลือเชื่อ” ซึ่งเทคนิคในการควบคุมต้นทุนให้รัดกุมมากที่สุดนอกจากจะตัดทอนปัจจัยด้านการบริการแบบร้านค้าโมเดิร์นเทรดออกไปแล้ว “บุญสม” ยังเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ “ผู้จัดการออนไลน์” ไว้ด้วยว่า แต่ละปี “ซุปเปอร์ชีป” มีเป้าต้องทำยอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ ปีละ 10 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย เพื่อผูกปิ่นโตกับ “ซัพพลายเออร์” ให้ส่งสินค้าด้วยราคาถูกกว่าเจ้าอื่นๆ ตามท้องตลาด
ยิ่งต้นทุนต่ำ “ซุปเปอร์ชีป” ก็ยิ่ง “ดั๊มป์ราคา” ได้มากเท่านั้น หากคำนวณจากสัดส่วนรายได้และกำไร “บริษัท ซุปเปอร์ชีป จำกัด” ปีล่าสุด (ปี 2565) จะพบว่า ซุปเปอร์ชีปมีรายได้มากถึง 10,463 ล้านบาท แต่มีกำไรเพียง 59 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่า “ซุปเปอร์ชีป” มีกำไรจากการขายเพียง 0.6 เปอร์เซ็นต์ และในปีก่อนหน้าก็มีสัดส่วนรายได้ต่อกำไรเฉลี่ยราว 0.5 ถึง 0.6 เปอร์เซ็นต์สม่ำเสมอทุกปีเช่นกัน หรือพูดให้เข้าใจโดยง่าย คือ “ซุปเปอร์ชีป” ขายของราคา 100 บาท โดยบวกกำไรเพิ่มเพียง 50 ถึง 60 สตางค์เท่านั้น
แม้เราจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ดอกผลที่สำคัญของการทำธุรกิจคือเม็ดเงินจากการทำกำไร แต่สำหรับ “ซุปเปอร์ชีป” สิ่งสำคัญที่ทำให้ค้าปลีกแห่งนี้ผงาดคู่เมืองภูเก็ต-เอาชนะยักษ์รีเทลเจ้าอื่นๆ ได้เกือบสามทศวรรษไม่ได้พึ่งพาเพียงตัวเลขผลประกอบการ แต่คือการทำธุรกิจโดยคนท้องถิ่นเพื่อคนท้องถิ่นที่เข้าใจคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
อ้างอิง: Creden Data, Isara News, MGR Online, Post Today1, Post Today 2, Thai PBS, Thairath, Tam-Eig, YouTube