พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มาตรา 54 VS 55...ความเหมือนที่ต่าง

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มาตรา 54 VS 55...ความเหมือนที่ต่าง

“การตกลงร่วมกัน” (Cartel) “การสมรู้ร่วมคิด” (Collusion) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “การฮั้ว” กันในทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด หรือกระบวนการแข่งขันทางธุรกิจ ย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

เพราะที่สุดแล้วจะส่งผลให้ตลาดไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และไม่เกิดการพัฒนานวัตกรรมในด้านต่าง ๆ  โดยทั่วไปแล้วพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ในทางกฎหมายการแข่งขันทางการค้าถือเป็นความผิด เพราะเป็นการกระทำอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาด

ใจความโดยรวมของมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ระบุไว้ว่า

“ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่แข่งขันในตลาดเดียวกันกระทำการใด ๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดนั้น ในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) กำหนดราคาซื้อหรือราคาขายหรือเงื่อนไขทางการค้าใด ๆ ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือบริการ

(2) จำกัดปริมาณของสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะผลิต ซื้อ จำหน่ายหรือบริการตามที่ตกลงกัน

(3) กำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในลักษณะสมรู้กัน เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งได้รับการประมูลหรือประกวดราคาสินค้าหรือบริการ หรือเพื่อมิให้ฝ่ายหนึ่งเข้าแข่งขันราคาในการประมูลหรือประกวดราคาสินค้าหรือบริการ 

(4) กำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่าย หรือลดการจำหน่าย หรือซื้อสินค้า หรือบริการได้ในท้องที่นั้น หรือกำหนดผู้ซื้อหรือผู้ขายที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่ายหรือซื้อสินค้าหรือบริการได้ โดยผู้ประกอบธุรกิจอื่นจะไม่ซื้อหรือจำหน่ายหรือซื้อสินค้าหรือบริการนั้น”

ในขณะที่มาตรา 55 ระบุไว้ว่า

“ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทำการใด ๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดใดตลาดหนึ่งในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) กำหนดเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในมาตรา 54 (1) (2) หรือ (4) ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่คู่แข่งขันในตลาดเดียวกัน

(2) ลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการให้ต่ำลงกว่าที่เคยผลิตจำหน่ายหรือให้บริการ

(3) แต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลใดแต่ผู้เดียวเป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการอย่างเดียวกันหรือประเภทเดียวกัน

(4) กำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อหรือการจำหน่ายสินค้าหรือการบริการเพื่อให้ปฏิบัติตามที่ตกลงกัน

(5) ความตกลงร่วมกันในลักษณะอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” 

จะเห็นได้ว่า มาตรา 54 และมาตรา 55 นั้นมีความเหมือนกันคือ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการฮั้วกันทางธุรกิจ แต่ทั้ง 2 มาตราก็มีความต่างกันอย่างชัดเจน

กล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้ประกอบธุรกิจในตลาด 

- มาตรา 54 จะกล่าวถึงการฮั้วกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในแนวราบ (Horizontal Agreement) ที่อยู่ในตลาดเดียวกัน ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกัน หรือมีสถานะเป็นคู่แข่งขันกันโดยตรง ซึ่งความผิดดังกล่าวจะเป็นโทษทางอาญา เพราะถือว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อการแข่งขันทางการค้าอย่างร้ายแรง (Hardcore Cartels)

- มาตรา 55 จะเป็นการกล่าวถึงการฮั้วกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในแนวดิ่ง (Vertical Agreement) กล่าวคือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มิได้อยู่ในตลาดเดียวกัน ความผิดดังกล่าว ถือเป็นความผิดที่สร้างความเสียหายต่อการแข่งขันทางการค้าอย่างไม่ร้ายแรง (Non-Hardcore Cartels) จึงมีโทษทางปกครอง

อย่างไรก็ตาม การฮั้วกันทางธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจใช่ว่าจะถือเป็นความผิดเสมอไป เพราะหากการฮั้วกันนั้นเป็นการกระทำระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการ การฮั้วกันเพื่อการพัฒนาการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า และการส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคนิคหรือเศรษฐกิจ 

การฮั้วกันในรูปแบบธุรกิจที่มีสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในต่างระดับกัน พฤติกรรมการฮั้วกันเหล่านี้ไม่ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

กล่าวได้ว่า การฮั้วกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจตามพฤติกรรมที่ต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็นการฮั้วกันในระดับแนวราบหรือแนวดิ่งก็ตาม ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบทางลบต่อกระบวนการแข่งขันทางการค้าทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับจึงควรทำความเข้าใจ และระมัดระวังพฤติกรรมการฮั้วกันอันเป็นการเข้าข่ายละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพราะคำอ้างที่ว่า “การไม่รู้กฎหมายแข่งขันทางการค้าย่อมไม่ผิด” ไม่สามารถนำมาใช้กล่าวอ้างเพื่อให้ไม่ต้องรับโทษหลังการกระทำความผิดได้.