“AI กำลังเปลี่ยนโลก ผลกระทบต่อการงานและการศึกษา”

“AI กำลังเปลี่ยนโลก ผลกระทบต่อการงานและการศึกษา”

IMFประเมินว่า 40% ของงานทั่วโลกจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจมากแล้วยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษเพราะประมาณ 60% ของงานจะถูกบังคับให้ต้องปรับตัว

ปีนี้เป็นปีที่ผู้นำทั้งภาครัฐและเศรษฐกิจให้ความสนใจมากกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งทุกคนยอมรับว่ามีคุณค่าและประโยชน์มหาศาลต่อการทำมาหากินของมนุษย์ ขณะเดียวกันอาจเป็นอันตรายเกินกว่าที่เราจะรับมือได้

การประชุมกลุ่มประเทศพัฒนาใหญ่ G7 ในเดือนมิถุนายนนี้ และการประชุมในเดือนตุลาคมของกลุ่ม BRICS ซึ่งคล้ายกับเป็นตัวแทนของประเทศที่กำลังพัฒนาหรือที่นิยมเรียกกันว่า Global South ก็คาดว่านอกเหนือจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจทั่วโลกแล้ว AIคือประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออาจเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในการสนทนา

AI ได้เข้ามาเป็นเครื่องมือที่หลายคนอาจเริ่มเพียงแค่ทดลองดูก่อน แต่ในที่สุดก็แทบจะติดงอมโดยไม่รู้ตัว พอมีความคล่องแคล่วขึ้นก็จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เคยใช้เวลาทำเป็นเวลานาน เมื่อมี AI เข้าช่วยก็จะลดเวลาลงมาอย่างน่าทึ่ง จากเดิมอาจค้นคว้าเอกสารหลายชั่วโมง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่นาที บางคนเคยทำบัญชีโดยใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ชั่วโมง การเตรียมการสอน หรือการทำวิจัย หรือการเขียนรายงานต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเขียนบทความของสื่อมวลชนในปัจจุบันก็มีการใช้ AI ช่วย บางคนคุยกับ AI มากกว่าคุยกับมนุษย์ในเรื่องทั่วไปไม่เฉพาะแค่การงานเท่านั้น จนเหมือนกลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน และนี่เป็นเพียงแค่เสี้ยวส่วนเล็กของการใช้ AI ในปัจจุบันซึ่งนับว่าเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของเทคโนโลยีด้านนี้เท่านั้น

มีการสำรวจในสหรัฐอเมริการะบุว่าปัจจุบันประมาณ 20% ของรายงานที่เขียนโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นใช้ AI ช่วย และประมาณ 65% ของนักศึกษาคิดว่า AI สามารถเขียนรายงานได้เทียบเท่าหรือดีกว่ามนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจะกระทบกับคุณภาพการศึกษาอย่างไร เนื่องจากการใช้เครื่องมือที่สะดวกและมีประสิทธิภาพทุ่นแรง อาจทำให้เสียวินัย ผิดวัตถุประสงค์ของการค้นคว้าแสวงหาความรู้ที่ต้องใช้สมาธิและความอดทนแบบดั้งเดิม และถึงขั้นที่มีการถกเถียงว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อเอาปริญญาบัตรนั้นจะมีความจำเป็นอยู่หรือไม่

การลงทุนอย่างมหาศาลของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งเทคโนโลยีในเรื่องปัญญาประดิษฐ์จะนำมาสู่โลกใหม่ที่เราอาจจะยังจินตนาการไม่ได้ (Softbank, Microsoft, Apple and Foxconn ร่วมมือกันลงทุน 180,000 ล้านเหรียญ, บริษัทในจีนลงทุน 26,000 ล้านเหรียญ, รัสเซียลงทุน 2,000 ล้านเหรียญ, Amazon, Google, META, NVIDIA, and Salesforce และอีกหลายกลุ่มเป็นจำนวนที่ไม่มีการแถลงชัดเจนอย่างเป็นทางการ)

ผลตอบแทนของการลงทุนนี้คือตลาด AI กำลังโตเร็วมาก สถาบัน Gartner ประเมินว่าการใช้จ่ายทั่วโลกในซอฟต์แวร์ AI จะเพิ่มขึ้นจาก 124,000 ล้านเหรียญในปี 2022 เป็น 297,000 ล้านเหรียญในปี 2027 และอัตราการเติบโตต่อปีจะอยู่ที่กว่า 19.1% ในอีกหกปีข้างหน้า

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเคยประมาณไว้ว่าเรามีเวลาประมาณ 10 ปีที่จะปรับตัว แต่ขณะนี้เชื่อว่าภายในไม่เกินห้าปี AI จะสามารถสื่อสารกันได้ และอาจจะสร้างภาษาระหว่างกัน ถึงระดับเกินความสามารถที่มนุษย์จะเข้าใจได้ และเมื่อถึงเวลานั้นเราอาจจะไม่สามารถควบคุมได้ว่า ผลกระทบทั้งดีและร้ายจะเป็นอย่างไร และอาจไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

หลายบริษัทในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังร่วมมือกันตั้งมาตรฐานและออกกฎข้อบังคับและกำหนดกติกาเพื่อไม่ให้มีการใช้ AI ในทางที่ผิด และอาจนำมาสู่ความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของมนุษย์ เช่น การใช้ข้อมูลเปิดเผยแบบ open source มาพัฒนาอาวุธอัตโนมัติต่างๆ หรืออาวุธเคมี หรืออาวุธชีวภาพ หรือการโฆษณาชวนเชื่อโดยข่าวลือข่าวปลอม เป็นต้น 

และ Trade War ปัจจุบันแล้วแทบจะคล้ายกับเป็น Tech War มากกว่า เราจึงเห็นความตึงเครียดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ซึ่งมีสิ่งอ่อนไหวคือเรื่องของ semiconductor ซึ่งผลิตคุณภาพสูงสุดในไต้หวันและเป็นที่พึ่งของตลาดกว่า 90% ของโลก ความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์ใกล้บ้านเรานั้นสรุปว่ามาจากสาเหตุของการแข่งขันเรื่อง AI

ผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งองค์การระหว่างประเทศออกมาย้ำเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบเป็นวงกว้าง IMFประเมินว่า 40% ของงานทั่วโลกจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจมากแล้วยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษเพราะประมาณ 60% ของงานจะถูกบังคับให้ต้องปรับตัว

ความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีเก็บข้อมูลและนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์โดยคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะมหาศาลและเพิ่มขึ้นทวีคูณ มาแข่งกับมันสมอง หยาดเหงื่อของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความขยัน สมาธิ ความสามารถในการแก้ปัญหาและความร่วมมือระหว่างกลุ่ม เป็นต้น

แม้ว่าการใช้ AI ในชีวิตประจำวันนั้นไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้จากสถาบันการศึกษา แต่สำหรับผู้ที่ตั้งใจจริงที่จะเจาะลึกด้านนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำให้พุ่งไปที่สาขา STEM เช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ซึ่งสามารถให้รากฐานที่แข็งแกร่งสําหรับการทําความเข้าใจแนวคิดและเทคโนโลยี AI ความรู้นี้จะมีค่าสําหรับการทํางานร่วมกับ AI หรืออาจพัฒนาแอปพลิเคชัน AI ใหม่

และแนะนำให้เรียนรู้ทักษะเฉพาะทางใน AI วิทยาศาสตร์ข้อมูล หุ่นยนต์ หรือการเรียนรู้ของเครื่อง โปรแกรมเหล่านี้สามารถจัดเตรียมทักษะและความรู้เฉพาะที่จําเป็นสําหรับงานที่ต้องการในสาขา AI เพิ่มเติมโดยการใช้ความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์อ่อนไหว ใช้วิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์ การร่วมมือในการทำงานเป็นทีม การรู้จักดัดแปลงปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อสนองต่ออารมณ์ของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในกลุ่ม เป็นตัวอย่างของการที่มนุษย์สามารถจะเพิ่มประสิทธิภาพของ AI ได้

996 เป็นเข้าใจต่อชาวจีน หมายถึงการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 9 โมงเย็นหรือสามทุ่ม เป็นเวลาหกวันต่อสัปดาห์ รวม 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจจะเป็นผลดีต่อผลผลิตในการพัฒนาประเทศมาระยะหนึ่ง แต่มีกระแสต่อต้านซึ่งมาจากความเครียดที่เกิดจากปัญหารุมเร้าหลายอย่างรวมทั้งเศรษฐกิจส่วนตัวและผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ชาวจีนหลายคนโดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวประท้วงโดยการไม่ทำงานแบบ 996 อีกต่อไป แต่จะอยู่บ้านและหาทางใช้ AI ช่วยทุ่นเวลา ซึ่งหลายคนประสบความสำเร็จในการสร้างโอกาสให้ตนเองและสามารถจะเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวได้ในเวลาเดียวกัน

หลายคนในตะวันตกเริ่มต่อรองการทำงานกับบริษัทให้ลดลงจากเดิมห้าวันต่อสัปดาห์ลดลงเหลือสี่วัน และบางบริษัทได้ปรับตัวให้พนักงานทำงานที่บ้านได้โดยเข้าประชุมเพียงแค่หนึ่งวันต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานว่านายจ้างและลูกจ้างมีอำนาจในการต่อรองกันเมื่อเพียงใด

“AI ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแย่งงานจากเรา แต่บุคคลที่มีความสามารถในการใช้ AI คล่องแคล่วนั้นอาจจะเป็นผู้ที่มาแย่งงานจากเรา”

ทุกอย่างมีคุณอนันต์และโทษมหันต์ เปิดใจให้กว้าง ปรับตัวให้ทัน เรียนรู้ในสิ่งใหม่เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ