พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มาตรา 50 VS 57...ความต่างที่เหมือน

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มาตรา 50 VS 57...ความต่างที่เหมือน

การแข่งขันทางการค้าภายใต้ระบบทุนนิยม ผู้ประกอบธุรกิจจำต้องมีการพัฒนากระบวนการผลิตรวมถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนกลยุทธ์ทางการค้าของตนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อช่วงชิงตลาด และหวังที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ในทุกการแข่งขันย่อมต้องมีกฎ กติกาที่เป็นธรรม สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าซึ่งถือเป็นกฎ กติกาของการแข่งขันทางการค้า

ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการเชิงบริหารในการกำกับดูแล และสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม อันจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นใจในบรรยากาศการค้า การลงทุนที่ดีแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ 

มาตรา 50 และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ) เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

โดยมาตรา 50 บัญญัติไว้มีใจความโดยรวมว่า “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้

1) กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้า หรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม

2) กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตน ต้องจำกัดการผลิต การซื้อ การบริการ การจำหน่ายสินค้า หรือจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า หรือจำกัดการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น

3) ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด และ

4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร”

ในขณะที่มาตรา 57 บัญญัติไว้มีใจความโดยรวมว่า “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้

1) กีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม

2) ใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม

3) กำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัด ขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม และ

4) กระทำการในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

จะเห็นได้ว่าหากพิจารณาตามตัวอักษร มาตรา 50 และมาตรา 57 จะมีความแตกต่างกัน แต่ถ้าหากพิจารณาบนพื้นฐานของพฤติกรรมทางการค้า ข้อห้ามของการกระทำต่อพฤติกรรมทางการค้าของทั้ง 2 มาตรามีลักษณะคล้ายคลึงกัน

หรืออาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะต้องห้ามของพฤติกรรมทางการค้าเดียวกัน แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้มาตรา 50 และมาตรา 57 มีความแตกต่างกันคือ “สถานภาพของผู้กระทำความผิด” กล่าวคือ ผู้กระทำความผิด และเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 50 จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด

(ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด) ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำความผิดตามมาตรา 57 คือ ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งโทษตามมาตรา 50 จะเป็น “โทษทางอาญา” ในขณะที่โทษตามมาตรา 57 จะเป็น “โทษทางปกครอง”  

อาจกล่าวได้ว่า เพราะความต่างในสถานภาพของผู้กระทำความผิดของทั้ง 2 มาตรานี่เองที่อาจเป็นสาเหตุให้การบัญญัติพฤติกรรมทางการค้าที่ต้องห้ามของทั้ง 2 มาตรามีความต่าง เช่น

ในมาตรา 50 เพราะผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จึงสามารถจะกำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม รวมไปถึงสามารถที่จะระงับหรือจำกัดการบริการ การผลิต เพื่อลดปริมาณสินค้าหรือบริการให้ต่ำกว่า ความต้องการของตลาดได้ จึงจำต้องบัญญัติไว้เป็นพฤติกรรมต้องห้าม ใน

ขณะที่มาตรา 57 เพราะผู้กระทำความผิดมิได้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จึงทำได้เพียงกีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม หรือใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป พฤติกรรมต้องห้ามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 ถือเป็นพฤติกรรมที่ห้ามกระทำโดยเด็ดขาด กล่าวคือ หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และมีพฤติกรรมทางการค้าอย่างหนึ่งอย่างใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 จะถือว่ามีความผิด โดยมิต้องคำนึงว่า พฤติกรรมทางการค้าดังกล่าวจะสร้างผลกระทบทางลบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นหรือไม่

ในขณะที่การบังคับใช้มาตรา 57 จะเป็นไปในลักษณะของการยึดหลักเหตุและผล กล่าวคือ หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีพฤติกรรมต้องห้ามตามมาตรา 57 จำต้องคำนึงด้วยว่า พฤติกรรมทางการค้าที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบธุรกิจรายนั้น สร้างผลกระทบทางลบหรือเกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นหรือไม่.