กินรวบ ผูกขาด มีอำนาจเหนือตลาด...ผิดด้วยหรือ? | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

กินรวบ ผูกขาด มีอำนาจเหนือตลาด...ผิดด้วยหรือ? | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

“กินรวบ” คือคำที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมการผูกขาดตลาดของธุรกิจรายใหญ่ แต่แท้จริงแล้วน่าจะหมายถึง การที่บริษัทบางรายดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หรืออาจกล่าวได้ว่า ดำเนินธุรกิจครอบคลุมทุกมิติของการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมากกว่า

บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ตามนิยามในประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และบริษัทเหล่านี้มักถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ผูกขาดตลาดนั่นเอง

จึงมักเกิดคำถามว่า การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดถือเป็นผู้ผูกขาดตลาด และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 หรือไม่?

นิยามของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามประกาศของ กขค. ระบุไว้ 2 กรณี กล่าวคือ

1.ผู้ประกอบธุรกิจรายนั้น จะต้องมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่งในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด และต้องมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

2.ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันแล้วตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป และผู้ประกอบธุรกิจรายที่จะถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องมียอดเงินขายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ในปีที่ผ่านมา

ในส่วนของผู้ผูกขาดตลาด นิยามตามประกาศของ กขค.ระบุว่า การผูกขาด หมายถึง การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้า หรือบริการของตนได้อย่างอิสระ และมียอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

สิ่งที่สำนักงาน กขค.ในฐานะหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ได้ประชาสัมพันธ์และเน้นย้ำอยู่เสมอว่า การเป็นผู้ผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดนั้นไม่ใช่สิ่งต้องห้าม ไม่มีความผิด และไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

ตราบใดที่ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่กระทำพฤติกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อราคาสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือสร้างเงื่อนไขใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม

ลองจินตนาการดูว่า หากการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดนั้นเป็นความผิด ก็อาจเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะไม่มีธุรกิจโรงภาพยนตร์ฉายภาพยนตร์ให้ผู้บริโภคได้รับชมกันเลย หรือก็อาจเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะไม่มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือบริการให้แก่ผู้บริโภคได้ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

เพราะผู้ประกอบธุรกิจทั้ง 2 ตลาดที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ล้วนแต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ในตลาดของธุรกิจตนทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดกระทำความผิด กล่าวคือมีพฤติกรรมที่ขัดต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ก็จะถือเป็นความผิดตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ

ซึ่งมีบทลงโทษเป็นโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือถูกปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ!