กฎหมายแข่งขัน...มีประโยชน์จริงหรือ?

กฎหมายแข่งขัน...มีประโยชน์จริงหรือ?

กฎหมายแข่งขัน คืออะไรและมีประโยชน์จริงหรือ? เป็นคำถามที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) มักถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้ง

เจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าก็คือ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และเสริมสร้างให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับมีความเชื่อมั่นในการทำการค้าการลงทุน เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม

ภายใต้กฎกติกาที่เท่าเทียม การทำงานของกลไกตลาดไม่ถูกบิดเบือน ป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน และที่สุดแล้วผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือ “ผู้บริโภค”

ดังนั้น หากการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เกิดเสถียรภาพทางการค้า เพราะการจัดสรรทรัพยากรในการผลิตจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ผู้ผลิตจะเกิดแรงจูงใจในการลงทุน คิดค้นและพัฒนาสินค้าและบริการที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม

ยิ่งกว่านั้น จะส่งผลให้เกิดการก่อตัวของวัฒนธรรมการแข่งขันทางการค้า (Competition Culture) ที่เป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้วยเหตุนี้สำนักงาน กขค. จึงเร่งสร้าง  ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า  ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้นจะให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ และรู้จักใช้ประโยชน์จากกฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับตนเอง และดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ได้กำหนดลักษณะการควบคุมที่กำกับดูแล "ไม่ให้" ผู้ประกอบธุรกิจกระทำหรือ "ฝ่าฝืน" ไว้ทั้งด้านพฤติกรรม (Conduct Control) และด้านโครงสร้าง (Structural Control) 
 

ในด้านพฤติกรรม ได้แก่  

1) การกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ไม่ให้ใช้อำนาจตลาดที่มีอยู่เอาเปรียบผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น

2) ห้ามการตกลงร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ แต่ยกเว้นสำหรับการตกลงร่วมกันสำหรับธุรกิจที่มีรูปแบบสัญญาเป็นการเฉพาะ หรือการตกลงร่วมกันเพื่อวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

3) การกำกับดูแลการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปที่กระทำต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อาทิ การกีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม การใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น

4) พฤติกรรมการตกลงร่วมกันกับบริษัทในต่างประเทศ ที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและประโยชน์ของผู้บริโภค

ในด้านโครงสร้าง ได้แก่ การติดตามการควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อดูแลโครงสร้างตลาดให้มีความสมดุล-เหมาะสมในแต่ละธุรกิจ 

โดยกำหนดให้การควบรวมกิจการใด ที่อาจลดการแข่งขันให้แจ้งการรวมธุรกิจภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รวมธุรกิจ เพื่อเป็นการติดตามพฤติกรรมในการประกอบธุรกิจ และหากการควบรวมธุรกิจใดที่ส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือเข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องขออนุญาตการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)ก่อนการควบรวมธุรกิจ

นอกจากนี้  กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดอำนาจให้ กขค. ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ และกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า กขค.ได้ออกประกาศกำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อเป็นการการส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก ๆ สามารถแข่งขันได้มากขึ้น เป็นการกระจายและช่วยลดการกระจุกตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ลดโอกาสการผูกขาดโดยผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็น แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม เกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์  

แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) รับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือลดการแข่งขันหรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้ เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า การสร้างความเข้าใจ และรู้จักใช้ประโยชน์จากกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบธุรกิจ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก และที่สำคัญถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กขค. ต้องทำให้สำเร็จ