รื้อ พ.ร.บ.แข่งขันการค้า ปรับนิยามอำนาจเหนือตลาด

รื้อ พ.ร.บ.แข่งขันการค้า ปรับนิยามอำนาจเหนือตลาด

เลขาธิการการแข่งขันทางการค้า ชี้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าใช้บังคับมา 5 ปี ถึงเวลาต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ พร้อมร่วมทำงานรัฐบาลใหม่แก้ไขกฎหมายแก้ปัญหาทุนผูกขาด

Key Points

  • ประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า มาแล้ว 2 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดประกาศใช้เมื่อปี 2560
  • พรรคก้าวไกลได้หาเสียงด้วยการใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกราย
  • ที่ผ่านมาคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ให้ TDRI ศึกษาการปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพขึ้น
  • ผลการศึกษาเสนอให้มีการปรับคำนิยาม “อำนาจเหนือตลาด” และปรับปรุงให้รองรับธุรกิจใหม่ เช่น อีคอมเมิร์ซ

ประเทศไทยมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งเกิดขึ้นในยุคทีการแข่งขันของธุรกิจในไทยยังไม่เสรี โดยภาครัฐมีกฎหมายที่กีดกันการทำธุรกิจของบางกลุ่ม รวมถึงมีการใช้อำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่สร้างความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่สามารถสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยแทบจะเอาผิดผู้ประกอบการที่ปฏิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรมไม่ได้เลย ถึงแม้วว่าบทบัญญัติของกฎหมายจะครอบคลุมการใช้อำนาจเหนือตลาด การควบรวมธุรกิจ

ปัจจัยดังกล่าวนำมาสู่การประกาศใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560เพราะกลไกในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าไม่คล่องตัวและขาดความเป็นอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะการฝ่ายการเมืองเป็นประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จึงได้แยกสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าออกมาจากกระทรวงพาณิชย์

รื้อ พ.ร.บ.แข่งขันการค้า ปรับนิยามอำนาจเหนือตลาด

 

ในช่วงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคก้าวไกลได้มีการนำเสนอนโยบายการสร้างความเข้มแข็งของเอสเอ็มอีผ่านหลายมาตรการ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุุคล การสนับสนุนเงินทุน รวมถึงการใช้กลไกของ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เป็นเครื่องสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม

พรรคก้าวไกลเห็นว่าไทยยังสภาพตลาดแข่งขันค่อนข้างจำกัด และกฎหมายต่อต้านการผูกขาดมีปัญหาการบังคับใช้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย รวมถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของภาคธุรกิจแย่ลงหลังจากที่ประเทศไทยผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลด้านแข่งขันได้ยอมให้มีการควบรวมกิจการขนาดใหญ่หลายธุรกิจ เช่น ห้างค้าปลีก ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลเห็นว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 บังคับใช้มาเกือบ 6 ปี แต่ยังมีจุดบกพร่องช่องโหว่ให้ต้องมีการแก้ไขให้สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค และทำให้การแข่งขันระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยเป็นธรรมมากขึ้น โดยมีข้อเสนอ 6 ข้อ ประกอบด้วย

1.กำหนดให้กฎหมายแข่งขันทางการค้าเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลธุรกิจอื่นๆ ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำไปกว่านี้

2.ขยายขอบเขตการบังคับใช้ของกฎหมายให้ครอบคลุมกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่จดทะเบียนในต่างประเทศ (Extraterritoriality)

3.ยกเลิกการยกเว้นบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้ากับรัฐวิสาหกิจ

4.เพิ่มสิทธิ์การอุทธรณ์ผลการวินิจฉัยการควบรวมธุรกิจ ให้รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้บริโภค

5.เผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มที่มีความเห็นกรรมการรายบุคคลอย่างรวดเร็วหลังมีการตัดสิน

 

 

6.แก้ไขที่มาของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และมีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นโดยการรายงานผลการดำเนินงานต่อสภา

7.เพิ่มกลไกสนับสนุนการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายโดยผู้บริโภคหรือประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระให้กับประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย

"วิษณุ วงศ์สินศิริกุล" เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)กล่าวว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 บังคับใช้มา 5 ปีกว่าแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยรายละเอียดการปรับปรุงเนื้อหาของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง 

ส่วนที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายจะแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาทุนผูกขาดนั้นคงต้องหารือกัน แต่ในส่วนของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็มีการศึกษาประเด็นการแก้ไขกฏหมายแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างใด 

อีกทั้งอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยในช่วงคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าชุดเก่าได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดูประเด็นการแก้ไขกฏหมาย แต่ก็ยังมีความคืบหน้าไม่มาก และเมื่อมีคณะกรรมการแข่งขันการค้าชุดใหม่เข้ามาทำงานก็มีการปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ และมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ แต่ก็เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาในหลายประเด็น ซึ่งศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะมีการนำผลศึกษาของทีดีอาร์ไอ มาเป็นตุ๊กตาหรือเป็นต้นแบบของการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย 

รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จะนำมาพิจารณาเพิ่มเติมว่าส่วนไหนจะนำไปใช้ในการปรับปรุงกฎหมายได้หรือจะเพิ่มเติมอย่างไร เช่น การผูกขาด แต่ในเรื่องนี้ก็ต้องดูเรื่องนิยาม แต่เท่าที่ได้เห็นรายงานผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอมีเรื่องของนิยาม ”อำนาจเหนือตลาด” ที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในจำนวนรายได้ที่มีอำนาจผูกขาดตลาด ซึ่งคงต้องทำความเข้าใจว่า อำนาจเหนือตลาดกับทุนผูกขาดในทางกฎหมายจะผิดหรือไม่อยู่ที่พฤติกรรม และจะเป็นความผิดทางอาญา

“กฎหมายการแข่งขันทางการค้าถึงเวลาที่ต้องปรับปรุง แต่จะปรับปรุงอย่างไร ต้องพิจารณากันอีกครั้งเพราะปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนไปเร็วมาก เช่น ตลาดอีคอมเมิร์ซ และในฐานะที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลเพื่อให้กฎหมายการแข่งขันมีประสิทธิภาพ" 

อย่างไรก็ตามการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า คงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะต้องมีขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย ทั้งการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร จึงใช้เวลาพอสมควรกว่าจะผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้

รายงานข่าวจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เผยว่า สถิติการควบรวมกิจการตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 ถึง 1 มิ.ย.2566 พบว่า กลุ่มธุรกิจการเงินได้แจ้งขอรวมธุรกิจ 2 ราย กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขอแจ้งรวมธุรกิจ 5 ราย และขออนุญาตรวมธุรกิจ 1 ราย 

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ขอแจ้งรวมธุรกิจ 1 ราย กลุ่มบริการ ขอเจ้งรวมธุรกิจ 4 ราย รวมทั้งหมด 13 ราย แต่หากนับย้อนไปตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน มีธุรกิจขอแจ้งรวมธุรกิจและขออนุญาต รวม 127 ราย